ZIPANG - Kawaguchi Kaiji

เรื่อง ZIPANG
โดย Kaiji Kawaguchi


ในเดือนมิถุนายน 200x เรือรักษาการอีซิส มิไร ที่มีออโต้ไจโรสองลำ เข้าร่วมกองเรือสี่ลำไปกองเรือกองกำลังป้องกันประเทศที่จะไปซ้อมรบนอกฝั่งเกาะนันโจ และจะต่อไปสมทบกับกองเรือสหรัฐที่ฮาวายเพื่อไปรักษาความสงบในเอกวาดอร์ นายทหารมีกัปตันคือนาวาเอก อุเมสึ ซาบุโร่ รองกัปตันและหัวหน้ากองพลาธิการคือนาวาโท คาโดะมัตสึ โยสึเกะ หัวหน้ากองการเดินเรือคือนาวาตรี โอกุริ โคเฮ หัวหน้ากองขีปนาวุธคือนาวาตรี นาวาตรีคิคุจิ มาซายูกิ นอกจากนี้ก็มีนักข่าว คาตากิริ ติดไปด้วย

ปก ZIPANG 1-5

ระหว่างเดินทางไปเพิร์ลฮาเบอร์ มิไรก็พบพายุประหลาดที่ส่งเรือย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 1942 โผล่ออกมาใกล้เรือธงยามาโตะของกองเรือญี่ปุ่นที่จะไปมิดเวย์ มิไรใช้ความเร็วหนีออกไปนอกกองเรือได้ ภายหลังยังช่วยนายทหารเสนาธิการสื่อสาร นาวาตรี คุซากะ ทาคุมิ จากเครื่องซีโร่ถูกยิงตก จากคำยืนยันของคาโดะมัตสึ ผู้มีอำนาจที่จะเอาชีวิตได้รับการยอมรับให้ดำรงอยู่ด้วยเหตุผลเดียวคือเพื่อปกป้องชีวิต ซึ่งคู่นี้ก็จะเป็นตัวละครสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างทางความคิดของช่วงก่อนและหลังสงครามโลก คุซากะเห็นชัดว่า จิตวิญญาณของมนุษย์ดำรงอยู่ในสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น พวกนายเป็นคนญี่ปุ่นก็จริง แต่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นแบบเดียวกับฉัน เรือลำนี้ไม่ใช่เรือที่จักรวรรดิของเราสร้างขึ้น มันถูกสร้างขึ้นจากจิตวิญญาณอีกประเภทหนึ่ง

มิไรกลับไปที่เดิมเพื่อพยายามกลับอนาคตและสังเกตการการรบจากระยะไกล เรือดำน้ำอเมริกันพบมิไรและยิงตอร์ปิโดใส่ ทำให้ทหารที่ประจำแอสร็อคที่นำวิธีด้วยโซนาร์ยิงกลับโดยไม่ได้รับคำสั่ง แต่มิไรได้สั่งให้ระเบิดทำลายตัวเองเมื่อใกล้พอสมควรเพื่อทำให้เรือดำน้ำเสียหายจนไม่สามารถสู้ต่อได้ มิไรที่ไร้รากก็ต้องหาทางเอาตัวรอด ทหารจำนวนมากไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อาจเปลี่ยนประวัติศาสตร์ แต่เมื่อถูกบีบให้สู้เพื่อป้องกันตัว ความเห็นเรื่องการรบก็เริ่มเปลี่ยนแปลง

มิไรพยายามยืนยันสถานการณ์โดยส่ง ฮ. ไปสังเกตการณ์ที่อ่าวโยโกสึกะ และถูกเครื่องซีโร่สองลำโจมตีจนนักบินคนหนึ่งเสียชีวิต คุซากะที่รู้เรื่องในอนาคตก็ต้องการเปลี่ยนแปลงชะตา แต่เมื่อถูกผูกติดกับมิไรก็เลยช่วยให้ข้อมูลในการจัดการกับเครื่องซีโร่ และแนะนำให้ไปหาเชื้อเพลิงเกรดที่ผลิตที่พาเรนบัน (น่าจะหมายถึง Palembang) และอาหารที่สิงคโปร์ โดยมีคาโดะมัตสึขึ้นบกไปด้วย แต่ความเคลื่อนไหวก็ถูกเจ้าหน้าที่สื่อสารรุ่นน้อง เรือเอก สึดะ คาสึมะ ที่รับคำสั่งโดยตรงของผู้บัญชาการสหพันธ์กองเรือ/เลขาธิการ ยามาโมโตะ อิโซโรคุ ให้รวบรวมข้อมูลของเรือแปลกประหลาด

ปก ZIPANG 6-10

คุซากะเจรจาให้สึดะอยู่บนมิไรแทน ส่วนตัวคุซากะไปพบยามาโมโตะและเหล่าเสนาธิการที่หมู่เกาะทรัคเพื่อเจรจาให้ถอนกำลังออกจากกาดัลคาแนลที่กำลังจะถูกบุก แต่ญี่ปุ่นคิดฉวยโอกาสจัดการกองเรืออเมริกันเพื่อลดแนวรบและสกัดอเมริกาตั้งตัวไม่ได้อีกหนึ่งปี ผลคือมิไรขู่ฝั่งอเมริกันและยามาโต้จนการถอนทหารญี่ปุ่นไม่เสียหายมากนัก (ถึงจะเป็นเทคโนโลยีตอนนี้ ก็รู้สึกว่าเวอร์มากที่ยิงสกัดปืนเรือได้ทุกนัด) ส่วนคาโดะมัตสึแตกหักกับคุซากะที่มีความเห็นว่าว่าสิ่งที่สร้างประวัติศาสตร์ไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นมนุษย์ คุณเองก็กำลังมีบทบาทเพื่อเหตุผลนั้นอยู่ และต้องการสร้างประเทศใหม่ ซีปัง สถานที่ซึ่งนักเดินทางชาวตะวันตกเคยฝีนถึง แต่ในความเป็นจริงมันคือประเทศใหม่ที่คนญี่ปุ่นไม่เคยรู้จักจนกระทั่งถึงยุคของคุณ

มิไรไปพบยามาโมโตะที่ถูกศูนย์บัญชาการกลางกดดันให้สู้ที่กัวดาคาแนล อุเมสึรับข้อเสนอของยามาโมโตะให้เทียบท่า ทางกองทัพเรือจึงจัดเรือดำน้ำนำมิไรไปโยโกสึกะ โดยมีเสนาธิการ นาวาตรี ทาคิ เออิจิโร่ ที่เรียนรุ่นเดียวกับคุซากะ (จบที่หนึ่ง ส่วนคุซากะได้ที่สอง) และอยู่ในกลุ่มที่อยากจัดการมิไรมาสังเกตการณ์

มีคนในกองทัพเรือที่ไม่พอใจและต้องการทดสอบมิไร จึงรั่วข่าวให้ทางอเมริกาที่ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินวาสพ์ (Wasp) มาจัดการ ทาคิถ่วงเวลาหลังมิไรตรวจพบเครื่องบินสำรวจให้มิไรไม่เปลี่ยนเส้นทางก่อนสั่งเรือดำน้ำดำโดยเอาคาโดะมัตสึและพันจ่าเอก ยานากิ (สารานุกรมสงครามแฟซิฟิคเคลื่อนที่) ที่มาซักไซ้ข้อสงสัยลงไปด้วย ถึงมิไรตัดการติดต่อทางวิทยุของเครื่องสำรวจและเรดาร์ของเรือบรรทุกเครื่องบิน ทางอเมริกาก็ส่งฝูงบินดอนเทรซสี่สิบลำมา มิไรที่ยังไม่เข้าใจถึงเรื่องการฆ่าหรือถูกฆ่าในสงครามจึงไม่ตอบโต้เต็มที่จนเรือเสียหาย เมื่อวาสพ์จะส่งฝูงบินระลอกที่สอง คิคิจิจึงเสนอให้ใช้มิสซายส์โทมาฮอว์คจมวาสพ์

ปก ZIPANG 11-15

คุซากะอาศัยช่องทางกองทัพบกหนีไปโตเกียวเพื่อพบ อิชิวาระ คันจิ อดีตเสนาธิการทหารบกที่มีความคิดเปิดกว้าง ผู้วางแผนการจัดตั้งแมนจูกัวขึ้นเป็นสหพันธ์แห่งตะวันออกไกล และวิจารณ์ โตโจ ฮิเดกิ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงทหารบก จนถูกเด้ง ในการวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ อิชิวาระคิดจะอาศัยผลประโยชน์ใช้น้ำมันในไซบีเรียที่ยังไม่ถูกค้นพบมาเป็นเกราะกำบัง และลดแนวรบทางใต้ที่เคยจำเป็นเพราะต้องการทรัพยากร เมื่อมีแนวทางแล้วคุซากะก็หายตัวไป สึดะที่ตามคุซากะมาจนพบอิชิวาระก็ถูกใช้ให้ไปติดต่อพลเรือเอก โยนาอิ มิตสึมาสะ ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือและนายกฯ เป็นแนวหน้าของฝ่ายซ้ายในกองทัพเรือคู่กับยามาโมโตะ

มิไรมาที่อ่าวโตเกียวและเรียกให้มีการเจรจาเพิ่มเติมบนเรือ กองบัญชาการทหารเรือตัดสินใจไม่ได้ว่าจะให้ใครไปจนโยนาอิเสนอตัว และได้แสดงจุดยืนให้อุเมสึและคาโดะมัตสึทราบว่าตนเองเห็นว่าญี่ปุ่นควรแพ้ในสงครามเพื่อกำจัดลัทธิจักรวรรดินิยมและเผด็จการทหาร เพื่อให้ตาสว่างและสามารถพัฒนาในภายหลัง

สึดะถูกคุซากะส่งไปเยอรมันเพื่อลบสังหารฮิตเลอร์เพื่อให้เยอรมันพินาศ ส่วนตัวคุซากะเองไปแมนจูกัว ปลอมตัวเป็นพ่อค้าชาวจีน หวังตงไห่ ไปฮาร์บิน ร่วมมือกับ คิมูระ จิโร่ หน่วยสำรวจทางรถไฟสายแมนจูเรียที่กำลังถูกกองทัพคันโตกำจัด เจรจาร่วมมือการขุดน้ำมันกับพ่อค้ารัสเซียเพื่อให้ข่าวรั่วไหลให้สถานการณ์ในแมนจูกัวตึงเครียดจนญี่ปุ่นต้องถอนกำลังจากจีน พรรคก๊กมินตั๋งและสังคมนิยมเปิดศึกกันต่อ อเมริกาคิดเข้ามายุ่งจนเปลี่ยนแผนหลังสงคราม อาศัยการสิ้นสุดสงครามในยุโรปที่เร็วขึ้นมาผลักดันให้ญี่ปุ่นสามารถเจรจาสงบศึกแทนที่จะยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข

ปก ZIPANG 16-20

เมื่อลูกเรือมีโอกาสขึ้นฝั่ง คาโดะมัตสึแอบไปดูปู่และพบว่าพ่อตนเองที่ยังเด็กเพิ่งถูกรถชนตาย ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงและที่นี่ไม่ใช้ญี่ปุ่นที่เคยอยู่ คาโดะมัตสึไปหาโยนาอิเพื่อสอบถามเรื่องคุซากะและเดินทางตามไป เมื่อถึงแมนจูกัวก็มีเรือโท คิราซากิ คัตสึมิ หน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพเรือเซี่ยงไฮ้เป็นผู้ประสานงาน

แผนการของคุซากะคือเร่งเหตุการณ์พ่ายแพ้ให้เร็วขึ้น ให้พันเอก อันโด้ แห่งฝูงบินประจำกองทัพแมนจูกัว สังหารจักรพรรดิ ปูยี ในงานพาเรดฉลองครบบรอบสิบปีการก่อตั้งแมนจูกัว แต่คาโดะมัตสึพาปูยีหนี คิราซากิพาไปซ่อนตัวที่บ้านของอดีตหมอทหาร นาวาตรี ยาบูกิ ที่รู้จักและเห็นด้วยกับคุซากะ ทำให้คุซากะสามารถฆ่าปูยีได้ (ตรงนี้ไม่ทราบแปลผิดหรือเปล่า บอกว่าชายา ฮิโระ ของพระอนุชา ปูเจี๋ย สืบสายเลือดจากจักรพรรดิเมจิ แต่ความจริงคือเป็นญาติห่างมาก) คิราซากิพาคาโดะมัตสึที่บาดเจ็บไปรักษาตัวที่เทียนสินในเหอเป่ยก่อนกลับไปมิไร

ผู้นำทหารเรือฝ่ายหัวก้าวหน้าเจรจากับผู้นำมิไรเรื่องต้องการใช้ช่วยเพื่อให้สามารถเจรจายุติสงครามโดยเร็ว ให้รัฐมนตรีมหาดไทย คิโดะ โยอิจิ ที่มีบทบาทในการก่อตั้งรัฐบาลโตโจและเป็นผู้ช่วยของจักรพรรดิขึ้นเรือมิไร แต่คิโดะสนใจปกป้องจักนพรรดิอย่างเดียว ไม่สนใจมากนักว่าจะแพ้หรือไม่ (มองจากจุดนี้ น่าจะเพิ่มจุดที่ราชวงศ์ญี่ปุ่นกำลังขาดทายาทชายอย่างวิกฤตก็เป็นผลมาจากการแพ้สงครามจนตัดตระกูลเชื้อพระวงศ์เป็นสามัญชนนะ)

ปก ZIPANG 21-25

ความร่วมมือแรกของมิไรคือการถอนทหารจากหมู่เกาะอาลิวเชียนจำนวนสี่พันคนที่ถูกทิ้งไว้บนเกาะอัทส์ (Attu) และคิสก้า ร่วมกับเรือลำเลียงพิเศษหนึ่งลำและมีทาคิมาเป็นผู้สังเกตการณ์ ถึงตอนนี้ประวัติศาสตร์เปลี่ยน อเมริกาที่ไม่ได้รบทางใต้ จึงส่งกองเรือสิบสองลำพร้อมทหารหมื่นสองมายกพลขึ้นบกที่อัทส์ โดยรองกัปตันเรือนอร์ธคาโรไลน่าผ่านเหตุการณ์เรือบรรทุกเครื่องบินวาสพ์จม แถมเกิดพายุแม่เหล็กที่รบกวนระบบตรวจจับ งานนี้คาโดะมัตสึเป็นผู้บัญชาการรบของมิไร อุเมสึบาดเจ็บต้องขึ้นฝั่งไปรักษาตัว

พวกคุซากะเดินทางด้วยทางรถไฟสายไซบีเรียและต่อมาถึงสวิส การดำเนินธุรกรรมของพาร์ทเนอร์ชาวรัสเซียเรื่องบ่อน้ำมันที่เฮยหลงเจียวทำให้คนอเมริกันจับตามอง สึดะปลอมตัวเป็นนักข่าวที่เซี่ยงไฮ้ ยามาโมโตะจัดการให้เข้าร่วมในการบินตรงไปเบอร์ลินด้วยเครื่อง A-26 ด้วยความช่วยเหลือของทูตทหารเรือที่เบอร์ลิน สามารถติดต่อกับนายทหารเยอรมันฝ่ายต่อต้านฮิตเลอร์ พันเอก คาล ฟอน สไตเนอร์ ที่จะวางระเบิดสังหาร แต่กลายเป็นกับดัก สไตเนอร์จึงต้องตายโดยให้สึดะเป็นคนฆ่า ทำให้สึกดะได้รับเชิญไปพบฮิตเลอร์ที่รังอินทรี แต่ก็พลาด กระโดดภูเขาทั้งที่บาดเจ็บ ตายหลังได้พบคุซากะ

ผู้นำทหารเรือฝ่ายหัวก้าวหน้าที่นำโดยยามาโมโตะเริ่มไม่สนใจคำสั่งของผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก นางาโนะ โอซามิ ส่งกองเรือไปถอนกำลังจากทรัคไปพาเลาโดยมีมิไรร่วมเดินทางเพื่อจัดการกับเรือดำน้ำอเมริกันที่ซุ่มหาข่าว อิชิวาระยอมกลับเข้ากองทัพแลกเปลี่ยนกับการที่โตโจสั่งให้ถอนทหารบกจากนิวกินีตะวันออก

>ปก ZIPANG 26-30

คุซากะเอายูเรเนียจาก ดร. ฮานส์ คูลเก้ นักฟิสิกส์ชาวยิวที่เดนมาร์ก แล้วกลับซินเกียงด้วยเที่ยวบินขากลับของ A-26 ส่งต่อยูเรเนียมให้อิชิวาระเป็นคนจัดการการสร้างระเบิดนิวเคลียร์โดย คุราตะ มังซาคุ นักวิทยาศาสตร์ที่หมดอนาคตเพราะกิจกรรมทางการเมือง แล้วคุซากะก็ยอมให้คิราซากิจับให้เหมือนหยุดการเคลื่อนไหว

มิไรสกัดกั้นเรือดำน้ำอเมริกันเพื่อช่วยการถอนทหารจากทรัคไปไซปัน แล้วก็ช่วยการถอนทหารบกจากนิวกีนีตะวันออกผ่านช่องแคบแดมเพอร์ เมื่อเครื่องบินญี่ปุ่นทำลายกำลังทางอากาศที่พอร์ทโมเลสบี้ได้ ก็เริ่มถอนทหาร แต่มิไรติดกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศของอเมริกาที่ต้องการจัดการเรือลึกลับ การต่อสู้ทำให้มิไรเสียหายหนักและเสียเครื่องออโต้ไจโรพร้อมนักบิน

หลังการประชุมถอนทหารจากราวาล ก็ถึงเวลาที่ยามาโมโตะจะตาย สิ่งที่เรียกว่าโชคชะตา ไม่ใช่เรื่องที่ทหารอย่างเราควรเอาไปคิด ถ้าผลลัพธ์กำหนดไว้แล้วก็ไม่มีความหมายที่จะสู้ งานของทหารคือการแสวงหาชัยชนะ แต่เปลี่ยนจากเครื่องบินตกเป็นถูกยิงแทน การตายนี้ทำให้มิไรขาดผู้หนุนหลังสำคัญ คิคุจิที่ต้องการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ตัดสินใจยึดเรือ คาโดะมัตสึพานายทหารบางคนขึ้นฝั่งแต่เหตุการณ์ที่ถูกตำรวจซ้อมคนคนหนึ่งตายทำให้ตัดสินใจยึดเรือคืน

ปก ZIPANG 31-35

อิชิวาระก็หาทางสร้างเป้าใหม่ให้ทางอเมริกาโดยติดต่อกับ เหมาเจ๋อตุง ผู้ปักหลักที่ยาหนานในซานซี ถึงจะเป็นศัตรูเก่าแต่ก็มีความเห็น คนเขลามืองแม้เห็นแม้อยู่ตรงหน้า ผู้มีปัญญามองเห็นแม้ไม่มี คนที่มองเห็นตั้งแต่ยังไม่มีอะไรให้เห็นนี่ล่ะถึงจะเป็นคนพิเศษ ส่วนอุเมสึที่ได้พบกับคิราซากิจนสามารถคาดเดาได้ว่าคุซากะมอบยูเรเนียมให้อิชิวาระ อุเมสึจึงหาทางยับยั้งการสร้างระเบิดในจีนโดยได้คิราซากิช่วย แต่ก่อนทำสำเร็จก็เสียชีวิตที่นานกิง

เพื่อดึงกองเรือสหรัฐไปมารีน่า และสร้างแรงกดดันให้อังกฤษ ญี่ปุ่นให้ผู้นำชาวอินเดียที่ต้องการประกาศอิสรภาพ สุพาส จันทราโภษ นำกำลังจากสิงคโปร์ผ่านไทยและพม่าไปบุกอินเดีย (แผนที่เบี้ยวมาก) กองเรือสหพันธ์เตรียมเปิดศึกที่มหาสมุทรอินเดียโดยโจมตีฐานทัพหลายแห่งโดยมีทาคิและคุซากะเป็นเสนาธิการสำคัญ การโจมตีที่ฐานทัพเรือทริงโกมารีในศรีลังกาและบอมเบย์ก็ทำสำเร็จแบบแทบไม่สูญเสีย แต่ในโจมตีจิตตะกองและดาการ์ ฝ่ายอังกฤษจับแกวได้จากการที่มิไรใช้ ECM รบกวนสัญญาณก่อนบุก จึงสามารถตลบหลังจนกองเรือญี่ปุ่นเสียหาย

กลุ่มคาโดะมัตสึแอบเดินทางไปพาเลาโดยใช้เรือดำน้ำอย่างเป็นความลับจนถูกเรือไล่ล่า (เรือพิฆาต) ตามล่าที่ทะเลซิบูยัน (กัปตันเฉือนกันสไตล์ภาพยนต์ 'The Enemy Below') และได้ขึ้นเรือมิไรก่อนไปหมู่เกาะกิลเบิร์ตเพื่อสบับสนุนการถอนกำลังจากมาคินและทาราวา แต่คิคุจิบาดเจ็บหนักจนเสนารักษ์หญิง โมโมอิ พาไปรักษาตัวที่พาเลา ซึ่งคุซากะก็ฉวยโอกาสยึดเรือมิไรและขังลูกเรือที่เกาะร้าง และตัดหน้าโยนาอิไม่ให้ญี่ปุ่นเจรจาด้วยโอกาสที่อิตาลียอมจำนน

ปก ZIPANG 36-40

คาโดะมัตสึหาทางยึดมิไรกลับโดยได้ความช่วยเหลือจากคิราซากิที่โยนาอิส่งมาและให้คิคุจิและโมโมอิไปพึ่งโยนาอิ ในขณะที่ระเบิดปรมาณูที่มีขนาดใหญ่มากถูกส่งถึงไซปัน คุซากะจัดการเรื่องระเบิดต่อ ส่วนทาคิไปโตเกียวเพื่อดูเรื่องการเจรจาสงบศึก เริ่มจากการประชุมมหาเอเซียบูรพา ซึ่งมี พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีไทย

จะว่ากันจริงๆ แล้ว การรบ 99% ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัว ความดีเลวของยุทธศาสตร์ ปริมาณและคุณภาพของทหาร แล้วก็ความสม่ำเสมอของการส่งเสบียง และยุทธปัจจัย แต่ในสนามรบ ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอยู่อีก 1% ซึ่งบางครั้ง อาจเป็นตัวตัดสินแพ้ชนะได้ ... คนไงล่ะ สงครามเป็นการกระทำของคน แค่คนๆ เดียว อาจจะก่อให้เกิดอนาคตที่คาดไม่ถึง ... สงครามคือการประทะกันของเจตจำนงของมนุษย์

ในการรบที่หมู่เกาะมารีอาน่าลงท้ายด้วยการโชว์ดาวน์ของสามเส้า ส่วนแรกคือกองเรือรบและเรือยกพลขึ้นบกอเมริกาที่นำโดย ผบ. มิทเชอร์ ที่ภายในมีการแย่งชิงจุดประสงค์หลักระหว่างเสนาธิการบนเรือกับหน่วยข่าวกองทัพเรือที่เกาะเควเซลิน ส่วนสองคือกองเรือญี่ปุ่นที่มีสองไอคอนในจิตวิทยาญี่ปุ่นช่วงสงครามโลก คือระเบิดปรมาณูและเรือประจัญบานยามาโตะ ภายในมีคุซากะและเหล่าผู้ร่วมอุดมการณ์ที่จะใช้นิวเคลียร์จมกองเรือยกพลขั้นบก ส่วนสามคือมิไรที่รอโอกาส มีการปะทะระหว่างสองตัวละครหลักคือคาโดะมัตสึและคุซากะ

เรื่องจบลงด้วยการจมของเรือยามาโตะ ในเวลา 10:02 น. ตามด้วยมิไรที่ร่องน้ำลึกมาเรียน่า มีเพียงคาโดะมัตสึที่ถูกนำขึ้นเรืออเมริกัน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ คือการเจรจาสงบศึกของญี่ปุ่น และยังอยู่ต่อมาจนถึงการออกเดินเรือครั้งแรกของมิไร ...
[10/10/14, 26/01/15, 10/03/16]

ปก ZIPANG 41-43

นอกจากนี้ก็มีตอนสั้นแทรกมาระหว่างเล่ม อย่างการพบปะของคาโดะมัตสึกับเด็กลูกครึ่งอังกฤษญี่ปุ่นที่สิงคโปร์ ช่วงเรียนนายเรือของคาโดะมัตสึ (ประธานนักเรียน) คิคุจิ และโอกุริ คุซากะตอนไปประจำที่ลอนดอน การกู้ภัยแผ่นดินไหวที่โกเบ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นการเสริมภาพลักษณะของตัวละครด้วย

สำหรับผู้แต่งก็เป็นคนหนึ่งที่ จขบ. ชอบมาตลอด เป็นชื่อที่ทำให้ซื้อได้โดยไม่ต้องคิด และเท่าที่อ่านมาถูกใจเรื่องนี้ที่สุดแล้วค่ะ โครงเรื่องเป็นการย้อนยุคของเรือรบจากปัจจุบันไปสงครามโลกและเกิด alternate history บุคลิกตัวละครหลากหลายและมีมิติ บู๊และเฉือดเฉือนกันอย่างคำนึงถึงลักษณะทางสังคมและสภาพแวดล้อมประกอบ เรื่องดราม่าและบังเอิญก็อยู่ในระดับที่เป็นไปได้หรือพอทำใจได้ ...

ที่อยากบ่นมากเลยคือการแปลน่ะค่ะ เนื่องจากมีการใช้ศัพท์และชื่ออังกฤษ ทั้งบุคคลสำคัญและสถานที่มาเป็นชุด ตำแหน่ง ยศที่สลับทหารบก/เรือ หรือศัพท์ทางทหาร แถมด้านเทคนิคก็เยอะ เรื่องการอ่านแปลกๆ ตามสำเนียงญี่ปุ่น ที่อาจจะดูไม่สำคัญหรือความไม่สม่ำเสมอ ก็ทำให้เสียอารมณ์ร่วมไปเยอะ และหลายครั้งมันฮาหรือพิลึกเกิน อย่างคนโพรเชีย (ปรัสเซีย?) คาร์ธาโก (คาร์เธจ?)

อนิเม ZIPANG

สุดท้ายคือมีการทำเป็นอนิเม 26 ตอนจบ ออกฉายในปี 2004-2005 โดยจบถึงตอนที่คุซากะปลอมเป็นคนจีนไปแมนจูเรีย โดยมีคาโดมัตสึตามไป กับมีวีดิโอเกมส์สำหรับ Play Station 2 ที่ออกปี 2005 แต่ จขบ. ไม่เล่นเกมส์ เลยไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรค่ะ
[10/10/14, 04/01/16, 26/01/22]

ที่มา
[1] Kawaguchi Kaiji. ZIPANG. วิบูลย์กิจคอมมิกส์, 43 เล่มจบ, 2547-2558 (ต้นฉบับ 2001-2009).


รายการการ์ตูนญี่ปุ่น, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค ญี่ปุ่น, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค WW2

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร - มาวนี่

Kaijyu No. 8 - Matsumoto Naoya

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira