ท้าวทองกีบม้า - ฮาดะ เรอิโกะ

เรื่อง Under the Cross in Ayuttaya ท้าวทองกีบม้า
โดย เรอิโกะ ฮาดะ บรรณาธิการโดย ผศ.กาญจนี ละอองศรี


คอนสแตนติน ฟอลคอน ออกจากกรีกมาทำงานในบริษัทอินเดียตะวันออกตั้งแต่อายุสิบเอ็ดปี ได้อาศัยความสามารถด้านภาษาและการค้าขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่คลังสินค้าอังกฤษ และเพิ่งย้ายมาจากที่ปัตตาเวียเมื่อสองปีก่อน โดยนอกจากการงานปกติ ก็ยังค้าของเถื่อนด้วย เมื่อเจ้านายเก่า จอร์จ ไวท์ ที่รับราชการเป็นขุนนางที่กรมพระคลังสินค้าจะกลับอังกฤษ ก็ได้เสนอให้ฟอลคอนรับหน้าที่แทน

ที่หมู่บ้านโปรตุเกส มารี กีมาร์ เป็นบุตรสาวคนเดียวของ ฟามกุ (หน้าไม่เหมือนญี่ปุ่นเพราะแม่มีเชื้อสายโปรตุเกส) และหญิงญี่ปุ่น เออร์ซูล่า มารีได้พบฟอลคอนที่แก่กว่าเท่าตัวเป็นครั้งแรกเมื่ออายุสิบหก แต่งงานในอีกสองปี มารีเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดและเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ฟอลคอนเข้ารีต ซึ่งตลอดมาเธอก็ได้เป็นภรรยาที่ดี ดูแลครอบครัว โดยมี โตโยะ บุตรสาวช่างต่อเรือในหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นบ่าวคนสำคัญ

ฟอลคอนเจริญก้าวหน้าในราชการขึ้นไปเรื่อยๆ สามารถเปิดโปงการทุจริตและมีส่วนในการปราบปรามแขกมักกะสัน เป็นออกหลวงสุรสาครทำหน้าที่หัวหน้าผ่ายการต่างประเทศ จากผลงานชั่งปืนใหญ่ ได้เป็นออกพระฤทธิกำแหงภักดี และเมื่อมีปัญหากับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษก็เสนอให้ติดต่อกับฝรั่งเศส โดยได้การสนับสนุนจากบาทหลวง ตาร์ชาร์ด ที่ได้ร่วมในคณะทูตชุดแรก ส่วนฟอลคอนก็ได้เป็นออกญาวิชาเยนทร์ ตำแหน่งเสนาบดีกรมท่า และอัครเสนาบดี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ตามลำดับ

แต่ฟอลคอนก็ต้องพยายามหาทางออกระหว่างฝ่ายฝรั่งเศสที่มีจุดประสงค์ในด้านศาสนามาก และทางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการพึ่งพิงฝรั่งเศสที่นำโดย พระเพทราชา เจ้ากรมพระคชบาล นอกจากนั้นยังต้องหาทางออกให้ตัวเองและครอบครัวอีก ซึ่งมารียังกล่าวแนะนำให้ฟอลคอนเมื่อเกิดความสับสนทั้งที่ไม่ทราบเรื่องราวทั้งหมด ชีวิตของท่านนั้นเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ ความนับถือศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ตอนนี้จิตใจของท่านเต็มไปด้วยความหวังในเกียรติยศและชื่อเสียง ดังนั้นขอให้ท่านคิดโดยรอบคอบ อย่าเร่งร้อน ซึ่งความศรัทธาในศาสนานี้จะช่วยประคับประคองมารีไปตลอด ...

จากคำอธิบายท้ายเล่ม ผู้แต่งเกิดเมื่อปี 1936 ที่ชิสุโอกะ จบการศึกษาศึกษาศาสตรบัณฑิต และมาอยู่เมืองไทยเมื่อปี 1972 มีผลงานการเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยหลายเล่ม เป็นสมาชิกของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และทำงานเพื่อคนพิการมาตลอด ผลงานเรื่องนี้ได้รางวัล The Japan Arts and Literature Grand Prize for Woman Writer เมื่อปี 1996 และถึงไม่บอกว่าตีพิมพ์ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นเมื่อไหร่ แต่ก็ไม่น่าจะก่อนหน้านั้นนาน

เรื่องประวัติศาสตร์ก็เน้นการเปลี่ยนแปลง ความทะเยอทะยานและอิทธิพลของศาสนาอยู่มาก (ทั้งนี้มีความเห็นส่วนตัวของ จขบ. คือการที่คิดว่าจะเกลี้ยกล่อมให้กษัตริย์เปลี่ยนศาสนากันง่ายๆ ดูจะหวังมากไปหน่อย ขนาดประวัติศาสตร์ฉบับตุรแปงยังดูจะยอมรับเลยว่าไม่ง่าย อ่านแล้วรู้สึกเลยว่าเน้นผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่า) เรื่องความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ดีเลยนะคะ แต่สงสัยตอนที่ประหารฟอลคอนโดยการตรึงกางเขน เพราะส่วนใหญ่จะตัดคอ และที่เคยอ่านเรื่องวิธีประหารและทรมานของไทยที่อย่างสยองสุดๆ ก็จำได้ว่าไม่เคยผ่านตาว่ามีการตรึงกางเขน การสะกดมีที่แปลกอย่าง ออกหลวงกัลยา ณ ไมตรี และที่งงจริงๆ คือใครแปล เพราะเห็นมีแต่บรรณาธิการน่ะค่ะ

ถึงเรื่องนี้จะมีชื่อเป็นท้าวทองกีบม้า แต่ฟอลคอนเด่นมากที่สุด แต่ถ้ามองว่ามารีเป็นคนเริ่มและปิดเรื่อง ในฐานะภรรยาที่เป็นเท้าหลังก็พอเข้าใจได้นะคะ ในภาพรวมแล้วรู้สึกว่าชื่อเรื่องของญี่ปุ่นดูจะตรงกว่า สไตล์การเขียนทำให้รู้สึกถึงความห่างของผู้อ่านกับตัวละครอย่างไรไม่ทราบ แต่ละตอนค่อนข้างสั้น มีการเรียงลำดับที่ไม่ชิน อย่างมีบทสนทนาระหว่างฟอลคอนและมารีที่จบด้วยการบอกว่าพูดกันที่ไหน

ความรู้สึกในภาพรวมคือก็น่าสนใจในฐานะที่เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ไทยที่คนญี่ปุ่นแต่งและการเข้าถึงลักษณะนิสัยบางอย่างและความแตกต่างในมุมมองของคนไทยกับต่างประเทศ แต่ในด้านความบันเทิงก็ไม่ได้ประทับใจอะไรเป็นพิเศษ เพราะอ่านแล้วไม่สะเทือนอารมณ์น่ะค่ะ ^_^
[16/04/15, 01/01/22]

ที่มา
[1] Reiko Hada (กาญจนี ละอองศรี บรรณาธิการ). ท้าวทองกีบม้า (Under the Cross in Ayuttaya). นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 216 หน้า, 2550.


รายการนิยายแปลไทย, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค ไทย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Spy×Family - Endo Tatsuya

ลำนำรักเทพสวรรค์ - ถงหัว

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira