สู่แดนสยาม ยามาดะ นางามาสะ - เอนโด ชูซากุ

เรื่อง สู่แดนสยาม ยามาดะ นางามาสะ
เขียนโดย เอนโด ชูซากุ (Endo Shusaku) แปลโดย บุษบา บรรจงมณี


สู่แดนสยาม ยามาดะ นางามาสะ ปกเรื่องเริ่มเมื่อปี 1614 ที่ชาวคริสต์โดนเนรเทศออกจากญี่ปุ่นและเดินทางจากนางาซากิไปอาศัยโบสถ์ที่มาเก๊า ในกลุ่มนี้ก็มีทายาทซามูไร เปโดร คิเบะ จากคุนิซากิที่ต้องการไปเรียนเป็นบาทหลวงก่อนแอบกลับมาญี่ปุ่นใหม่ แต่ก็มีคนแอบขึ้นเรือ คือ โทโซ จากซุรุงะ คนชั้นต่ำไม่สามารถไต่เต้าให้มีอำนาจได้ในญี่ปุ่น จนตัดสินใจออกไปหาทางดาบหน้า

เมื่อถึงมาเก๊า ชาวญี่ปุ่นพบว่าเป็นแขกที่ไม่เป็นที่ต้อนรับ พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง และคนจีนไม่ชอบญี่ปุ่นจากการปล้นสะดมของโจรสลัดชาวญี่ปุ่น ทำให้ต้องหาทางขยับขยายเอง คิเบะไปเมืองกัวในอินเดียเพื่อเรียนเป็นบาทหลวงแต่โรงเรียนไม่รับ จึงเดินทางทางบกผ่านตะวันออกลางไปโรม ได้เข้าเรียนเป็นบาทหลวงที่คอเลจิโอ โรมาโน หลังเป็นบาทหลวงก็ไปลิสบอนเพื่อหาทางกลับญี่ปุ่น

ส่วนโทโซไปทำงานกับคนจีน เก็นชิริว และติดเรือสินค้าไปอยุธยาในรัชกาลของ พระเจ้าทรงธรรม หัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นคือ ซึดะ มาตาซาเอมง ซามูไรที่หนีมาหลังนายแพ้สงคราม แต่สุขภาพย่ำแย่ และมี คิอิ คิวเอมง เป็นหัวหน้ากองทหารอาสาญี่ปุ่นที่มีอยู่ราว 200 คน ทำหน้าที่อารักขาวังหลวง โทโซเข้าเป็นทหารอาสา ในการรบกับพม่าได้วางแผนโดยใช้แบบจากการรบในญี่ปุ่นจนได้เลื่อนเป็นหัวหมู่ คิอิได้เป็น ขุนทรงศัตรู การอารักขาวังทำให้โทโซได้เห็น พระธิดาโยธาทิพ จนเกิดความหลงไหลที่ซ่อนไว้ และยังเข้าตากรมวัง ออกญาศรีวรวงศ์

เมื่อพระเจ้าทรงธรรมใกล้สวรรคต ผู้มีโอกาสสืบราชบัลลังก์คือ พระอนุชา พระศรีศิลป์ ที่มีออกญากลาโหมแม่ทัพใหญ่และเสนาบดีคลังสนับสนุน กับ พระโอรส พระเชษฐา ที่ ออกญาศรีวรวงศ์ สนับสนุน คนญี่ปุ่นไม่แน่ใจว่าควรอยู่ฝ่ายไหนดี โทโซจึงแนะให้แบ่งคนเข้าไปทั้งสองฝ่าย คือ คิอิไปทางพระศรีศิลป์ ส่วนโทโซไปข้างพระเชษฐา สุดท้ายออกญาศรีวรวงศ์หลอกให้อีกฝ่ายตายใจและใช้โทโซบุกจับตัว พระศรีศิลป์ออกผนวช ออกญากลาโหมและเสนาบดีคลังถูกประหาร พระเชษฐาที่ยังเยาว์ขึ้นครองราชย์โดยมีออกญาศรีวรวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการและออกญากลาโหม

ตามที่เตี๊ยมกันไว้ก่อน โทโซช่วยคิอิให้รักษาชีวิตและตำแหน่งไว้ได้ ค่าตอบแทนที่ได้คือตำแหน่งผู้ช่วย รับบรรดาศักดิ์ ขุนชัยสุนทร และเปลี่ยนชื่อเป็น ยามาดะ นินซาเอมง นางามาสะ ให้สมฐานะ แต่การที่ยามาดะได้ความไว้วางใจกว่า (และพยายามเลื่อยขาเก้าอี้อย่างอีกฝ่ายไม่รู้ตัว) ทำให้คิอิไม่พอใจ หลอกพระศรีศิลป์ถอดจีวร ทำให้ถูกจับไปขังที่เพชรบุรีและถูกสำเร็จโทษหลังการแย่งชิงภายในอีกครั้ง ส่วนคิอิและพวกโดนจับฆ่าฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยามาดะได้เป็นหัวหน้ากองทหารอาสาและสิทธิค้าขาย มีบรรดาศักดิ์เป็น ออกญาเสนาภิมุข ภายหลังเมียคิอิฆ่าตัวตาย ลูกสาว ฟุขิ มาอาศัยอยู่กับยามาดะ

ไม่ถึงปี ผู้สำเร็จราชการก็ร่วมมือกับ ออกญากำแหง ชิงบัลลังก์ พระเชษฐาและพระราชชนนีโดนสำเร็จโทษ ผู้สำเร็จราชการหลอกออกญากลาโหมให้คิดขึ้นครองบัลลังก์ก่อนกำจัดทิ้ง และยก พระองค์อาทิตย์สุรวรรณ พระอนุชาของพระเชษฐาธิราชขึ้นเป็นยุวกษัตริย์ คราวนี้ยามาดะเริ่มเป็นก้างขวางคอบ้าง

ย้อนไปคิเบะที่หาทางกลับญี่ปุ่นก็เรือถูกปล้น เดินทางมาถึงอยุธยาและได้พบยามาดะสั้นๆ สุดท้ายก็สามารถกลับญี่ปุ่นในปี 1630 อีกเก้าปีให้หลังโดนจับและทรมานจนตาย (ลองไปค้นเน็ตดูแล้วว่าบาทหลวงเยซูอิต เปโดร คิเบะ ได้รับการประสาทพรที่เป็นขั้นก่อนเป็นนักบุญเมื่อปี 2008)

เมื่อเกิดการจลาจลที่เมืองลคร (นครศรีธรรมราช) พระพี่นางโยธาทิพถูกส่งไปเกลี้ยกล่อมจนโดนพวกปัตตานีจับ ยามาดะไปตีเมืองโดยขอเมืองลครให้คนญี่ปุ่นเมื่อชนะ หลังช่วยพระพี่นางได้ พระพี่นางขอให้ฆ่าผู้สำเร็จราชการซึ่งยามาดะก็เห็นว่าเป็นประโยชน์กับตน เมื่อกลับอยุธยาจะลงมือก็โดนหักหลัง ต้องหนีกลับลครและโดนวางยาพิษจนตาย ...

นิยายเรื่องนี้เป็นผลงานของ เอนโด ชูซากุ (1925-1996) นักประพันธุ์ในกลุ่มที่ 3 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลองค้นประวัติดูคร่าวๆ ก็เห็นว่าผลงานได้รับรางวัลหลายเรื่อง และเคยได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลด้วย และเป็นชาวคริสต์ ทำให้สอดแทรกเรื่องราวเข้าไปในเรื่องเสนอ เช่นเรื่องนี้ที่บุคคลจริงในประวัติศาสตร์สะท้อนสะท้อนถึงความคิดและการกระทำที่ต่างกันสุดขั้วในทางโลกและทางธรรม

ในฐานะเป็นผลงานของผู้เขียนมีชื่อขนาดนี้ ก็มีการเขียนแนะนำหนังสือเชิงวิชาการด้วยนักวิชาการหลายคนที่ชี้ถึงจุดที่ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องพระโอรสธิดาของพระเจ้าทรงธรรม พระเชษฐาธิราช พระศรีศิลป์ พระอาทิตยวงศ์ และเพิ่มพระธิดาโยธาทิพ (ตรงกับชื่อเจ้าฟ้าศรีสุวรรณ์ พระภคินีพระนารายณ์ มเหสีฝ่ายซ้ายพระเพทราชา) และระหว่างเรื่องก็มีท้ายหน้าจากผู้แปลเรื่องจุดผิดพลาดของผู้แต่ง เช่น ใส่บาตรตอนเย็น กฏมณเฑียรบาล และการแบ่งแยกชายหญิงจากเหตุศาสนา ฯลฯ เข้าไปด้วย

ความจริง จขบ. คิดว่าถ้าบรรยายให้ละเอียดหมดเลยน่าจะดี เพราะทำให้สงสัยไปเรื่อย ซึ่งพูดกันตามตรง จขบ. รู้สึกถึงความแปลกๆ ในรายละเอียดหลายแห่ง อย่างการที่เจ้านายฝ่ายในไปลี้ภัยในวัดหลังฝ่ายหน้าถูกจับ การคิดยกพระพี่นางเป็นกษัตริย์แทนพระอนุชา (โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงบทบาทของเจ้านายฝ่ายในช่วงต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง) หรือการที่คนไทยคลี่มู่ลี่ไม้ไผ่นอนกลางวัน ฯลฯ แต่เรื่องก็น่าสนใจมากค่ะ

ประวัติศาสตร์ของยามาดะก็ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ เรื่องจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ ซึ่งถ้าผู้อ่านบล็อกทราบว่ามีหนังสือหรือวิทยานิพนธ์ ก็ขอฝากบอกมาด้วยนะคะ จะขอบคุณมากเลยค่ะ ^^ เรื่องราวของคิเบะยังมีในนิยายของผู้แต่งอีกเล่มคือ 'ปืนและไม้กางเขน' น่าสนใจเหมือนกัน แต่ จขบ. ไม่ทราบว่ามีแปลหรือเปล่า เพราะลองค้นดูแล้วไม่เจอค่ะ

ที่มา
[1] เอนโด ชูซากุ (บุษบา บรรจงมณี แปล). สู่แดนสยาม ยามาดะ นางามาสะ (Okoku e no Michi - Yamada Nagamasa). เนชั่นบุ๊คส์, 328 หน้า, 2549 (1981).


รายการนิยายแปลไทย, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค ไทย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Spy×Family - Endo Tatsuya

ลำนำรักเทพสวรรค์ - ถงหัว

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira