บุพเพสันนิวาส & พรหมลิขิต - รอมแพง

เรื่อง บุพเพสันนิวาส & พรหมลิขิต
เขียนโดย รอมแพง


บุพเพสันนิวาส

เมื่อ เกศสุรางค์ (จบโทโบราณคดี เน้นประวัติศาสตร์ศิลปะ) วัย 25 ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต วิญญาณเธอกลับย้อนไปกรุงอโยธยา ปี พ.ศ. 2225 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเข้าร่าง การะเกด สาวน้อยแสนสวยวัย 16 ธิดาพระยารามณรงค์แห่งเมืองสองแคว

การะเกดเป็นคู่หมายของ หมื่นสุนทรเทวา (เดช) บุตรคนรองของ ออกญาโหราธิบดี กับ คุณหญิงจำปา เพราะความสนิทสนมของครอบครัว แต่นิสัยการะเกดตรงข้ามกับหน้า ทำให้หมื่นสุนทรเทวาไม่ชอบและไม่ยอมหมั้นสักที แถมไปชื่นชม แม่หญิงจันทร์ ธิดา เจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) การะเกดหึงจัดและแอบไปล่มเรือจนสาวใช้ตายไปคนหนึ่ง หมื่นสุนทรเทวาสงสัยแต่ไม่มีหลักฐานจึงรายมนต์กฤษณะกาลีให้ลงโทษผู้ผิด ทำให้การะเกดตายแล้ววิญญาณของเกศสุรางค์มาเข้าร่างแทน

แน่นอนว่าการะเกดเวอร์ชั่นนิวลุคสร้างความประหลาดใจแกมยินดีให้ผู้คนรอบข้างอย่างยิ่ง ความตรงไปตรงมา จริงใจ และรอบรู้ขนาดเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส (และอาจรวมไปถึงการไปทำเรื่องอะไรต่อมิอะไรให้มาช่วย) ทำให้หมื่นสุนทรเทวาเปลี่ยนมาหลงการะเกดจนยินดีที่จะหมั้นเมื่อเกิดคำครหาจากการที่การะเกดผายปอดเมาท์ทูเมาท์ให้ แต่งานแต่งต้องรอพระเอกไปฝรั่งเศสก่อน ส่วนของที่ให้เป็นที่ระลึกก็ฮาดี (เธอไม่ใจกล้าถอดสไบที่กำลังห่มให้ ซึ่งถึงขั้นนี้พระเอกทำท่าอยากได้เต็มแก่ ฮ่าๆ)

เรื่องนี้จบในรัชสมัยของพระเพทราชา มีบุคคลในประวัติศาสตร์พาเรดมาเพียบ เริ่มตั้งแต่พระเอกที่มีตัวจริง ขุนศรีวิศาลวาจา (ตรีทูตไปฝรั่งเศส) ที่ในเรื่องแต่งให้เป็นบุตรพระยาโหราธิบดี และเป็นน้องชายของศรีปราชญ์ สำหรับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เช่น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ท้าวทองกีบม้า จุฬาราชมนตรี หลวงกัลยาณไมตรี และยังมีพระมหากษัตริย์สองพระองค์ คือ พระเพทราชา และ หลวงสรศักดิ์ ทางฝรั่งเน้นเฉพาะฝรั่งเศส เช่น ปีแอร์ ลองกรัวส์ และ ลาลูแบร์ ฯลฯ

เรื่องนี้ขอบอกว่าเปิดหน้าแรกแล้วแทบร้องกรี๊ดค่ะ มีแผนที่กรุงเก่า! เวลาอ่านหนังสือย้อนยุคหรือที่เกี่ยวกับสถานที่มักจะไม่รู้เรื่องเพราะจับทิศไม่ถูก ความประทับใจกระฉูด แถมช่วงแรกๆ เป็นเรื่องความลำบากในการใช้ชีวิตในสายตาของสมัยปัจจุบันอีก ธรรมดาชอบอ่านเรื่องย้อนยุคนะคะ ละเมียดละไมดี แต่รู้สึกว่าเหมือนมองผ่านเลนส์สีกุหลาบ ลักษณะและบทบาททางสังคม การใช้ชีวิต เทคโนโลยี และการแพทย์ที่แตกต่างจากปัจจุบัน ถ้าไปใช้ชีวิตอยู่จริงคงแย่ (อย่าง จขบ. ถ้าเกิดเร็วไปแค่ 100 ปี ตอนนี้คงจะปะงาบๆ อยู่จากอาการป่วยที่สมัยนี้รักษากันง่ายๆ) ดังนั้น การอ่านเรื่องเมียน้อย ทาส ห้องน้ำ (รวมถึงการอาบ ขัดตัว แปรงฟัน ขับถ่าย และประจำเดือน) น้ำดื่มน้ำใช้ โรคมาเลเรีย ซิฟิลิส ฯลฯ ที่เจอในเรื่องยิ่งทำให้ดรรชนีความชอบตอนต้นทะลุหลังคาเลยล่ะค่ะ

เรื่องประวัติศาสตร์ไทยเห็นได้ชัดว่าผู้แต่งทำการบ้านมามาก อ่านจบแล้วต้องร้องดังๆ ว่าอยากได้ glossary และภาคผนวก ที่บอกว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง ตรงไหนใส่ไข่มากเลยล่ะค่ะ ถึงจะให้รายการอ้างอิงมาก็เถอะ แต่ จขบ. อยากอ่านง่ายไม่ต้องรวบรวมเองน่ะค่ะ อย่างเรื่องตำแหน่งและราชทินนามของใครที่แน่นอน อันไหนที่เติมให้ครบ หรือการบอกเรื่องการตีความประวัติศาสตร์ที่มีหลายความเห็นเพื่อให้ทราบนอกเหนือจากที่ยกมาใช้ รวมถึงการแยกแยะความสัมพันธ์ทางสายเลือดของบุคคลต่างๆ ที่มีหลักฐานชัดเจนหรือที่แต่งเติมขึ้น ในตอนท้ายผู้แต่งเขียนเรื่องการตีความกับความคิดตัวละครแต่ไม่ได้ยกเรื่องที่ขัดแย้งมากล่าวก่อน เลยงงน่ะค่ะ

คำกลอนที่อยู่ในเรื่อง มีบางอันที่บอกว่ายกมาจากไหน ที่เหลือไม่ทราบว่ามีใครแต่งหรือผู้เขียนแสดงฝีมือเอง (อยากทราบน่ะค่ะ) นางเอกที่ไปฉกโคลงกลอนสมัยหลังมาทำให้นึกถึงเซี่ยงเส้าหลงเลย นั่นก็ขายืมตัวฉกาจ ('เจาะเวลาหาจิ๋นซี' เป็นเรื่องยาวของหวงอี้ที่ จขบ. ชอบมากที่สุด) แต่เรื่องเครื่องกรองน้ำกับไปเที่ยวตลาด ทำเอาถึงถึงแครอลแห่ง 'คำสาปฟาโรห์' จริงๆ ค่ะ (นี่ก็ผู้อ่านมาอย่างยาวนานจนหมดแรงเลิกไปเอง) การบรรยายในใจของนางเอกก็ฮาดีจัง อย่างเรื่องอบร่ำเครื่องหอม การประดับเครื่องเพชรหมดกำปั่น หรืออาการหื่นเมื่อเห็นหนุ่มๆ หุ่นฟิต ไม่ใส่เสื้อ

แต่ที่ไม่ชอบก็มีนะคะ รู้สึกว่าสำนวนยังไม่เข้าที่ อ่านแล้วดูแปลกๆ แต่อาจเป็นเพราะมีสำนวนที่ทันสมัยเจี๊ยบปนกับบทสนทนาโบราณเป็นระยะๆ กลไกทางสังคมที่ยังไม่ตรง แต่ก็อย่างว่าค่ะ ถ้าเนียนนางเอกคงไม่เด่นเพราะคงออกไปทำอะไรไม่ได้ อย่างไปถามพระเพทราชาเรื่องธรรมของกษัตริย์นั่นเข้าข่ายกบฎถึงประหารเชียวนะ ถึงจะบอกว่าไม่มีคนนอกแต่ก็ไม่ใช่ผู้ก่อการที่ตกลงร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน

นอกนั้นก็เป็นจุดเล็กจุดน้อย เช่น นางเอกนุ่งผ้าจีบแต่กระโดดเตะผ่าหมากได้ ฝรั่งเศสทักทายด้วยการหอมแก้ม รู้สึกว่าไม่น่าใช่เลยค่ะ เพราะสมัยนั้นน่าจะทักทายด้วยการโค้งแบบอลังการ (เช่นการ make a leg ที่เจอในนิยายหรือละครสมัยพระเจ้าหลุยส์) หรือเปิดหมวกมากกว่า แต่ที่หลุดแน่ๆ คือไม่มียาควินินเพราะยังใช้ในรูปสมุนไพรเปลือกต้น cinchona กว่าจะเริ่มมีการสกัดก็อีกหลายสิบปี (ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไทยของ จขบ. ออกอาการบ๋อแบ๋ แต่ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ค่อนข้างใช้ได้)

แต่เรื่องหลักที่ไม่นิยมที่สุดคือการใช้คำพูดและลักษณะนิสัยโดยรวมของนางเอกหลายช่วง มีคำไม่สุภาพ โดยเฉพาะที่คิดออกมาเยอะจัง (จขบ. เห็นว่าในกรณีนี้อย่างน้อย comment ในความคิดก็น่าจะออกมาสุภาพแบบปัจจุบันในระดับหนึ่ง) พยายามรวบรวมความคิดแทบแย่แล้วออกมาว่ารู้สึกการสื่อความให้แก่นแก้วออกมาเป็นกระโดกกระเดก ส่วนความอยากรู้อยากเห็นออกมาเป็นประเจิดประเจ้อแทนน่ะค่ะ

สรุปแล้วว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกและประทับใจมาก (ไม่งั้นคงไม่เขียนรีวิวยาวขนาดนี้) รู้สึกเหมือนรีวิวความหลังยังไงไม่ทราบ อ่านจบแล้วนึกถึงเรื่อง 'เพชรพระนารายณ์' ของหลวงวิจิตรวาทการ ว่าถ้าเอามาอ่านใหม่ตอนนี้จะเจอโฆษณาอะไรอยู่บ้างหรือไม่ (ตอนอ่านยังเด็กเลยอ่านแบบนิยายล้วนๆ) เห็นว่าหนังสือเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย จากการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2553 ด้วยนะคะ
[10/01/11]

พรหมลิขิต

ในตอนต่อนี้ พุดตาน สาวจากปี 2569 ที่มีสายสัมพันธ์ห่างๆ กับเกศสุรางค์ ได้ถูกคัมภีร์กฤษณะกาลีพาไปปี 2251 คือประมาณยี่สิบปีจากเรื่องที่แล้ว โดยพุดตานได้ไปอยู่กับ ยายกุย ที่ปลูกกระท่อมอยู่ในบริเวณของพระยาวิสูตรสาคร ในบ้านมีหลานสาว กลิ่น กับบ่าวสองคนโดยคนหญิงถูกผัวขายมา พุดตานเลยช่วยหาเลี้ยงชีพโดยการปลูกผัก ทำเครื่องสำอางค์ เช่น แป้งพวงสี สีผึ้ง และต้องการไถ่บ่าวให้เป็นไทจากสามี

ตอนนี้เดชก็ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสูตรสาคร มีลูกกับการะเกดคือฝาแฝด เรือง ที่ได้เป็นหมื่นณรงค์ราชฤทธาอยู่เมืองสองแคว กับ ริด หมื่นมหาฤทธิ์ในกรมมหาดเล็กที่เตรียมย้ายไปกรมคลัง ส่วนลูกสาวมี แก้ว ที่ได้หมั้นกับ มิ่ง จมื่นศรีสรรักษ์ที่กำลังจะได้เป็นเจ้าเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) ในดำแหน่งออกพระศรีสุรินทฤาชัย กับ ปราง ซึ่งริดก็ได้รู้จักพุดตานและเริ่มชอบสาวที่มีอะไรบางอย่างคล้ายแม่ มีการพาไปเที่ยวตลาด งานลอยโคมประทีป และจีบด้วยฝีมือ ถึงคุณหญิงจำปาไม่ชอบเพราะศักดิ์ไม่เสมอกัน

เจ้าฟ้าเพชรเพิ่งครองราชย์เป็นขุนหลวงองค์ใหม่ เฉลิมพระนามเป็น พระสรรเพชญ์ที่เก้า หรือพระเจ้าท้ายสระ แต่ในเชิงราชอำนาจถูกคุกตามจาก พระองค์เจ้าดำ พ่อตาพระอนุชา เจ้าฟ้าพร ที่เป็นกรมพระราชวังบวรฯ โดยตอนนี้ริดได้รับใช้ใกล้ชิด ตามเสด็จประพาส พร้อมกับเพื่อนสนิทอย่างพระยาราชนกูล (ทองคำ) หลวงชิดภูบาล (ยอร์ช ฟอลคอน หรือ จ๊อด) และหมื่นจันภูเบศร์ (อิน) บุตรชายคนสุดท้องของพระยาโกษาธิบดีที่เป็นลูกครึ่งจีน โดยที่พระเจ้าท้ายสระเคยเสด็จมาเสวยปลาตะเพียนที่พุดตานทำเป็นอาหาร จนเกิดเป็นพระราชกำหนดห้ามกินปลาตะเพียน

เมื่อลงหลักปักฐานได้ พุดตามก็พยายามตามเรื่องคัมภีร์เพื่อหาทางกลับปัจจุบัน แต่เรืองก็เอาคัมภีร์ไปพิษณุโลก เมื่อพระยาวิสูตรสาครไปพิษณุโลกเพืื่อเยี่ยมลูก การะเกดเลยไปด้วย ริดก็พาพุดตาลไป แต่การหาทางจากคัมภีร์ก็ไม่เกิดผล ต้องรอสุริยุปราคาครั้งหน้าอีกแปดเดือน ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การแต่งงานของแก้ว การแข่งว่าวในพระราชพิธีแครงว่าวหง่าวเรียกลม

สุดท้ายคือมีการปิดปมเรื่องคัมภีร์กฤษณะกาลี โดย อทิตยา ลูกสาว สุริยะราชา ผู้สร้างคัมภีร์ ได้สร้างกรรมหนักร่วมกับ จันทราวดี ผ่านมาหลายชาติจนบ่วงกรรมเก่าจะคลายลง ก็สามารถเลือกได้ว่าจะไปทางไหน ซึ่งเมื่อเรียบร้อยก็รอสี่ปีก่อนแต่ง โดยริดเป็นขุนพิพัฒน์ราชสินธุ์ ปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ ขุดลอกคลอง และพุดตาลเป็นเมียพระราชทาน ...

เรื่องนี้เน้นเสน่ห์ปลายจวัก การเที่ยว และแจกขนมจีบ ไม่โลดโผนโจนทะยานเท่ากันเล่มที่แล้ว ความรู้สึกคือสบายๆ กว่ากันเยอะ ถึงรู้สึกว่าการขายของและอาหารรู้สึกง่ายไปหน่อย มีหลุดๆ มาอย่างผ้ายางยืดกับการโจงกระเบน แต่ในทางการเมืองที่ดูจะเก็บเนื้อเก็บตัวกว่ามาก ทำให้เมื่อมองในอีกแง่ก็สมจริงมากกว่า สรุปว่าถึงไม่ทำให้เกิดความประทับใจแบบ 'บุพเพสันนิวาส' แต่ก็รู้สึกถึงการเติบโตของแนวทางการเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ค่ะ
[14/04/21]

ที่มา
[1] รอมแพง. บุพเพสันนิวาส. สำนักพิมพ์ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 424 หน้า, 2553.
[2] รอมแพง. พรหมลิขิต. แฮปปี้ บานานา, 536 หน้า, 2562.


รายการนิยายไทย, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค ไทย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Spy×Family - Endo Tatsuya

ลำนำรักเทพสวรรค์ - ถงหัว

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira