The Wake-Up Call - Micklethwait & Wooldridge

เรื่อง The Wake-Up Call: Why the Pandemic Has Exposed the Weakness of the West, and How to Fix It
โดย John Micklethwait & Adrian Wooldridge


The Wake-Up Call ปกหนังสือเล่มนี้แต่งโดยหัวหน้าบรรณาธิการของสำนักข่าวบลูมเบอร์ก (ในปัจจุบัน) และ The Economist (อดีต) กับบรรณาธิการด้านการเมืองของ The Economist ที่มีประสบการณ์เสนอข่าวเศรษฐกิจอย่างโชกโชน และถ้าดูตามแนวทางของนิตยสารและผู้แต่ง แนวคิดที่ใช้ก็ควรโน้มเอียงไปทางเศรษฐกิจเสรีนิยมบ้าง เมื่อพิจารณาเรื่องก่อนหน้าที่เขียน อย่างน้อยก็น่าจะเสนอเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ พร้อมกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและอารมณ์ขันเสียดสีแบบอังกฤษ ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็ไม่ทำให้ผิดหวังค่ะ

แนวคิดที่เสนอคือประวัติศาสตร์ด้านการเมืองที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลและการปกครอง โดยเทียบระหว่างทางตะวันออกและตะวันตกว่ามีความรุ่งเรื่องและเสื่อมโทรมอย่างไรตั้งแต่ยุคกลางจนถึงปัจจุบัน โดยใช้การระบาดของโควิดเป็นตัววัดสภาพการณ์ปัจจุบัน แล้วจึงพิจารณาปัญหาของทางตะวันตก (เน้นอเมริกา) และเสนอแนวทางการแก้ปัญหา

ในศตวรรษที่ 14 ประเทศและแคว้นในยุโรปมักมีขนาดเล็กที่เผชิญกับทั้งความรุนแรงทางการเมือง สงคราม และโรคระบาด ในขณะที่ทางตะวันออกมีจีน ออตโตมัน และอินเดีย ที่รุ่งเรืองสูงสุด แต่ต่อมา จีนและออตโตมันปิดตัวและไม่รับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เสื่อมถอยสัมพันธ์ ในขณะที่ทางตะวันตกได้เกิดการนำเสนอแนวคิดของ โทมัส ฮอบส์ ที่มีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์ของประเทศจำนวนไม่มากนักที่มีการแข่งขัน วิลเลี่ยม แกลดสโตน และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ มีต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและการปกครองที่เป็นเสรีนิยม หน่วยงานรัฐมีขนาดเล็ก ลดการคอร์รัปชั่น และให้ความสำคัญกับผลงานและความสำเร็จ และเกิดระบบรัฐสวัสดิการที่เป็นค่ามาตรฐานต่ำสุดสำหรับประชาชน

ผู้แต่งให้จุดสูงสุดของตะวันตกอยู่ที่ราวปี 1960 ที่ชาติตะวันตกมีความเชื่อมั่นในความสำเร็จสูงสุด แต่ก่อนหน้านั้นก็เริ่มมีสัญญาณของการเสื่อมแล้ว โดยเฉพาะการขยายตัวของระบบราชการ และการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อสวัสดิการต่างๆ ที่ทำให้มีการเก็บภาษีที่สูงมาก ทั้ง โรนัล เรแกน และ มาร์กาเร็ต แธชเชอร์ ใช้การการแปรรูปองค์กรของรัฐให้เป็นเอกชนและลดภาษี แต่ก็ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงในระยะยาว

เมื่อเทียบกันแล้ว ลีกวนยู สร้างระบบราชการที่มีขนาดเล็ก มีการแข่งขันแต่เด็กเพื่อได้เป็นหัวกระทิ เลือกเฉพาะคนที่มีความสามารถเข้าทำงานภาครัฐและให้ค่าตอบแทนสูงมาก ทำให้สิงคโปร์มีผลงานโดดเด่นในการพัฒนาการสาธารณสุขและการศึกษาทั้งที่ไม่ได้ใช้เงินมากนัก มีระบบสวัสดิการที่เน้นให้ช่วยตัวเองและครอบครัวก่อนการสนับสนุนของรัฐ และเป็นโมเดลที่ประเทศทางเอเซียจำนวนหนึ่งประยุกต์ใช้

แนวคิดชาตินิยมทำให้เกิดการแตกแยกในกลุ่มชาติตะวันตก นโยบายประชานิยมทำให้ภาครัฐเสื่อมถอยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาคเอกชน มีรัฐธรรมนูญ แนวคิดการจัดการและเทคโนโลยีในภาครัฐที่ไม่ตอบบริบทปัจจุบัน มีภาระผูกพันโดยเฉพาะสวัสดิการที่ช่วยชนชั้นกลางแทนผู้ด้อยโอกาสที่แท้จริงและการเกษียณที่เร็วเมื่อเทียบกับอายุขัย มีกฏระเบียบและระบบบัญชีที่ทำให้เสียเวลา โอกาส และผลสำเร็จที่คาดหวัง ขาดคนมีความสามารถเนื่องจากผลตอบแทน บรรยากาศ และโอกาสก้าวหน้าที่ต่ำลง ภาครัฐถูกผูกมัดโดยกลุ่มผลประโยชน์ทั้งจากเอกชนและในหน่วยงานของรัฐ นักการเมืองที่ขาดการเชื่อมโยงทางสังคมกับคนทั่วไปและมีประสบการณ์แคบ ที่ปัญหาเหล่านี้มีมากเป็นพิเศษในอเมริกา (สังเกตได้จาก โดนัลด์ ทรัมป์) และอังกฤษ (บอริส จอห์นสัน) ที่มีปัญหามากกว่าที่อื่น

เมื่อโควิดระบาด ก็มีปัญหาทางการแพทย์ สังคม และเศรษฐกิจ ไม่สามารถรับมือได้ทันท่วงทีจากการเสียเวลาเตรียมการและป้องกันโรค (โดยเฉพาะทรัมป์ที่ไม่ฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ) ไม่สามารถเตรียมเครื่องมือและทรัพยากร โดยเฉพาะการคัดกรองโรค ชุดตรวจโรค และอุปกรณ์ป้องกัน การเมืองที่ผิดพลาด การขาดความร่วมมือและช่วยเหลือเพื่อจัดการกับปัญหาจนกลายเป็นความแตกแยกในระดับโลก และระบบการให้บริการทางการแพทย์ในอเมริกา

แนวทางการแก้ปัญหาที่เสนอ ใช้การรวมแนวคิดริเริ่มและแนวทางของ วิลเลี่ยม แกลดสโตน (นายกฯ อังกฤษ) และ อับราฮัม ลินคอล์น (ประธานาธิบดีอเมริกา) ออกมาเป็นประธานาธิบดี บิล ลินคอล์น ที่ทำอยากพูดว่าอุตส่าห์คิดวิธีเสนอแบบนี้ออกมาได้ ช่างสร้างสรรค์แบบคาดไม่ถึง แนวทางที่เสนอออกมาก็มีทั้งที่ตรงไปตรงมา อย่างการใช้เทคโนโลยีในภาครัฐ การศึกษา ตัดกรองข้าราชการ/พนักงานในภาครัฐ การให้ประชาชนพึ่งตนเองมากกว่าสวัสดิการ ฯลฯ จนถึงที่ดูแปลกในระดับหนึ่ง อย่างเรื่องการเกณฑ์ทหารหรือทำงานสาธารณประโยชน์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างชนชั้น

สรุปความรู้สึกคือเป็นเรื่องสั้นที่อ่านได้ง่าย ไม่ได้มีทฤษฎีมากมายอะไร เน้นเรื่องความสำคัญของการมีภาครัฐขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมต่อกับภาคเอกชน ให้ความรู้สึกชัดเจนว่าถึงจะอยู่ในขาขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะขึ้นหมด การล่มสลายมักไม่รวดเร็วแต่มักจะลงอย่างช้าๆ แต่ถึงอยู่ในขาลง ถ้ารู้ตัวทันและปรับได้ ก็ใช่ว่าจะทำให้ไต่ขึ้นใหม่ไม่ได้

แนวคิดอาจจะค่อนข้างเป็นการสรุปแบบทั่วไป (generalization) ไปสักหน่อย หลายเรื่องไม่ได้เป็นมุมมองใหม่ เน้นผลกระทบของแนวคิดเฉพาะบุคคลค่อนข้างมาก มองข้ามจุดที่ไม่สม่ำเสมอกับแนวทางที่เสนอ และแนวทางที่เสนอก็ใช้ว่าจะไร้ที่ติ ส่วนหนึ่งคือการรีบเข็นหนังสือออกมาอย่างเร็ว (หนังสือออกเดือนกันยายน) ก็น่าจะทำให้ไม่มีการทบทวนละเอียด แต่ในบริบทนี้ที่เร็วกว่าได้เปรียบก็ถือว่าสมเหตุสมผลอยู่ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ไปคิดต่อและพิจารณาเพิ่มเติมได้

เรื่องสุดท้ายและสำคัญที่สุดคือสามารถพิจารณาบริบทของรัฐบาลและการปกครองของไทยเทียบด้วยว่ามีปัญหาอย่างไร ทั้งภาครัฐและการจัดการโควิด ซึ่งดูแล้วไทยมีลักษณะการล่มสลายแบบตะวันตกมาก แต่พูดกันตามตรง จขบ. มองไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลไทยปัจจุบันจะสามารถปรับปรุงแก้ไขภาครัฐให้เอาอยู่ได้ และเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งรู้สึกสิ้นหวังขึ้นทุกที
[24/03/21, 01/07/21]

ที่มา
[1] John Micklethwait & Adrian Wooldridge. The Wake-Up Call: Why the Pandemic Has Exposed the Weakness of the West, and How to Fix It. HarperVia, 176 หน้า, 2020.


รายการหนังสืออังกฤษ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Spy×Family - Endo Tatsuya

ลำนำรักเทพสวรรค์ - ถงหัว

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira