The Nazi Officer's Wife - Edith Hahn Beer

The Nazi Officer's Wife: How One Jewish Woman Survived the Holocaust
By Edith Hahn Beer with Susan Dworkin



เอดิธ ฮาห์น (Edith Hahn) เกิดเมื่อปี 1914 ในครอบครัวชาวยิวที่ตั้งรกรากมานานในเวียนนาและไม่ได้เคร่งครัดศาสนานัก แถมมีแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยม เธอเป็นลูกสาวคนโตในสามใบเถา พ่อ เลโอโปลด์ (Leopold) เป็นทหารผ่านศึกที่เสียการควบคุมแขนบางส่วน เปิดร้านอาหารแต่ขายไปในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำแล้วไปทำงานโรงแรม ส่วนแม่ Klothilde ก็คอยช่วยงานร้าน ตั้งแต่เด็กเอดิธรียนเก่งและถึงจะมีหนุ่มมาสนใจหลายคน (ทั้งยิวและคริสต์) แต่ก็ให้ความสำคัญกับการเรียนต่อมากกว่า จนพ่อตัดสินใจส่งเรียนกฏหมายที่มหาวิทยาลัยเวียนนาตั้งแต่ปี 1933 (รูปหน้าปกคือรูปติดบัตรนักศึกษา อ้อ ที่น่าสนใจในรูปติดบัตรสมัยนาซีคือต้องเอียงให้เห็นหู)

พ่อตายในปี 1936 แม่เปิดร้านตัดเสื้อ เอดิธเป็นติวเตอร์และพี่เลี้ยงให้ลูกสาวของวิศวกรหม้าย Denner คือ Christl (อายุ 14) และ Elsa (อายุ 11 ปี) มีคนรักคือ Pepi Rosenfeld ลูกครึ่งพ่อยิวแม่คริสเตียนที่เรียนกฏหมายจนได้เป็น Doctor of Law คือสามารถทำงานเป็นผู้พิพากษาหรือทนาย

หลังจากเยอรมันผนวกออสเตรียในปี 1938 มีการเหยียดเชื้อชาติและทรัพย์สินเริ่มถูกยึดมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วิทยุในช่วงแรก ถึงยึดบ้านไปขายต่อ ห้ามทำงาน ฯลฯ เอดิธที่เหลือสอบครั้งสุดท้ายก็จะได้ปริญญา Doctor of Law ก็ถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย ครอบครัวเอาเงินเก็บทั้งหมดจ่ายค่าออกนอกประเทศส่งน้องสาวคนเล็กไปปาเลสไตน์ (ภายหลังเธอทำงานให้กองทัพอังกฤษที่ยึดครองเยอรมันหลังสงคราม) ส่วนคนรองรีบแต่งงานกับแฟนแล้วหาทางหนีออกนอกประเทศอย่างผิดกฏหมาย แม่และเอดิธไม่มีเงินเหลือพอที่จะออกไปได้ และที่สำคัญคือ Pepi ถูกแม่ดึงไว้ จัดการให้รับศีลจุ่มและใช้เส้นสายลบชื่ออกจากทะเบียนชาวยิว (แต่ก็ไม่ได้อยู่ในรายชื่ออารยัน ที่จะทำให้ถูกเกณฑ์ทหาร ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน) ทำให้เอดิธไม่สามารถตัดใจหนีในช่วงที่ยังพอทำได้

เมื่อถึงปี 1941 คนยิวเวียนนาที่ยังเหลือต้องย้ายเข้า ghetto และถูกเรียกไปใช้แรงงานงาน เอดิธสามารถให้แม่อยู่ที่เวียนนาได้ ตัวเองโดนส่งไปไร่ที่ Osterburg ในเยอรมัน ทำงาน 56-80 ชม. ต่อสัปดาห์ อาหารน้อย สุขภาพแย่ลงมากถึงประจำเดือนขาดตลอด แต่ยังติดต่อกับครอบครัวและ Pepi ได้ไม่เหมือนแรงงานต่างชาติหรือเชลยสงคราม ซึ่งเอดิธก็พยายามทำงานให้ดีเพราะถูกบอกว่าถ้าทำได้ดีครอบครัวจะปลอดภัย หลังจากไร่ก็ไปโรงงานทำกล่องกระดาษ

ในปี 1942 คนยิวเวียนนาก็เริ่มถูกส่งไปค่ายกักกันในโปแลนด์ เมื่อแม่ถูกเรียกตัวเอดิธก็พยายามขอกลับเวียนนา แต่มาไม่ทัน ทำให้ตัดสินใจหนีและหลบซ่อนตัว แต่ Pepi กลัวจนทั้งคู่เลิกกัน เอดิธได้รับความช่วยเหลือในหลายด้านจากผู้อุปถัมภ์ของเพื่อนสนิทที่ไร่ Maria Niederall สมาชิกดั้งเดิมพรรคนาซีที่ดูแลและส่งไปหาทหารนาซีที่แนะนำให้ปลอมตัวเป็นอารยัน เรื่องที่ต้องทำและที่ห้ามทำเกี่ยวกับทะเบียนประจำตัวประชาชน บัตรอาหารและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงให้ไปทำงานกับกาชาด

เอดิธเลยไปขอให้ Christl ช่วย ซึ่งเธอก็ให้เอกสารอย่างเต็มใจและไปแจ้งหายตามคำแนะนำ ทำให้เอดิธปลอมเป็น Christina Maria Margarethe Denner หรือ Grete โดยอาศัยตัวเล็ก หน้าเด็ก (ข้อนี้ จขบ. ดูรูปแล้วยังสงสัย) แล้วเดินทางไปมิวนิคเพื่อสมัครงานผู้ช่วยพยาบาลกาชาด ได้พบ Werner Vetter สมาชิกพรรคนาซีที่ทำงานด้านสีในโรงงานเครื่องบิน Arado ที่เมืองแบรนเดนเบิร์กและกำลังหย่าขาดจากภรรยาที่มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน เมื่อ Werner ขอ Grete แต่งงานเธอก็บอกความจริงกับ Werner ที่มีแนวคิดอารยันก็กลับยอมรับได้

ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อปี 1943 ซึ่ง Grete ก็พยายามทำตัวให้เงียบกลมกลืนและเอาอกเอาใจ Werner เต็มที่ ลูกสาว Angelika หรือ Angela เกิดในปีต่อมา ที่น่าสนใจคือทั้งคู่ติดต่อกับเพื่อนของเอดิธที่เวียนนาและเดินทางไปพบหลายครั้ง Werner เคยช่วยเพื่อนเหล่านี้ด้วย เมื่อปลายปี Werner ถูกเกณฑ์ เป็นนายทหารและถูกรัสเซียจับเป็นเชลยศึก ทำให้ Grete ต้องเอาตัวรอดเองเมื่อกองทัพรัสเซียบุกมาถึง

เมื่อเหตุการณ์ดีขึ้น เอดิธก็เปลี่ยนใช้ชื่อเดิมและทำงานเป็นผู้พิพากษา/ทนายให้กับทางรัสเซีย ในที่สุดก็สามารถขอร้องให้ปล่อย Werner กลับเยอรมันเมื่อปี 1947 ก่อนเชลยศึกคนอื่นนาน แต่สภาพในครอบครัวที่เปลี่ยนไปทำให้หย่าในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อเอดิธถูกทางรัสเซียถูกบีบให้เป็นสาย เธอจึงพาลูกหนีไปอังกฤษ ทำงานที่หาได้ทุกอย่างเพื่อเลี้ยงชีพและแต่งงานใหม่หลังจากนั้นสิบปี ส่วน Pepi ได้ส่งเอกสาร จดหมาย และรูปถ่ายที่เกี่ยวข้องกับเธอจำนวนมากที่เสี่ยงเก็บไว้ระหว่างสงครามให้ในปี 1977 ...


เล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติของหญิงชาวยิวที่หลบซ่อนตัวระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองด้วยการปลอมตัวเป็นคนอารยัน (ในเรื่องบอกว่าการหลบซ่อนแบบนี้เรียกกันว่าเรือดำน้ำ) ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับเรื่องของ Solomon Perel ที่ปลอมตัวเป็นยุวชนฮิตเลอร์

เรื่องนี้ใช้ศัพท์เยอรมันในหลายจุดค่ะ แต่ก็พอเข้าใจถ้าทราบเรื่องประวัติศาสตร์มาบ้างหรือค้นเอาหน่อย เนื้อหาน่าสนใจมาก ถึงเธอไม่ได้ประสบกับความทารุณทางกายในค่ายกักกัน แต่สิ่งที่จ่ายออกไปคือการฆ่าตนเองในรูปแบบหนึ่ง เพิ่มเติมว่า เอดิธเสียชีวิตเมื่ออายุ 95 ปี เอกสารของเธอที่เรียกว่า Edith Hahn Archive ถูกขายเพื่อหาเงินผ่าตาในปี 1997 ปัจจุบันอยู่ที่ United States Holocaust Memorial Museum

เรื่องนี้มีแปลไทย 'เมียนาซี' โดยสำนักพิมพ์ฟูลสต๊อป เมื่อปี 2548 ผู้แปลใช้นามปากกาเก่งการ แต่ไม่เคยอ่านค่ะ และหนังสือก็ทำเป็นภาพยนตร์สารคดีออกฉายในโรงภาพยนตร์และโทรทัศน์เมื่อปี 2003 และถูกส่งเข้าประกวด Primetime Emmy Awards ในหัวข้อ Music Composition for a Miniseries, Movie or a Special (Dramatic Underscore)
[14/08/13, 03/12/22]

ที่มา
[1] Edith Hahn Beer & Susan Dworkin. The Nazi Officer's Wife: How One Jewish Woman Survived the Holocaust. Perennial Edition, 305 p., 2000 (First Published 1999).


รายการหนังสืออังกฤษ, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค เยอรมัน, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค WW2

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Spy×Family - Endo Tatsuya

ลำนำรักเทพสวรรค์ - ถงหัว

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira