Real - Inoue Takehiko

เรื่อง Real เรียล
โดย Inoue Takehiko



โทงาว่า คิโยฮารุ ตอนเด็กมีปัญหาที่พ่อให้เล่นเปียโนและหลังแม่ตายก็อ่อนแอ แต่ตอน ม. ต้นก็พบตัวเอง เป็นนักกึฬาวิ่งระยะสั้นที่ลงแข่งระดับชาติ ก่อนพบว่าเป็นมะเร็งกระดูกจนต้องตัดขาขวาเมื่ออายุ 14 (ความพิการ 4.5 แต้ม) ถูกบีบคั้นในการตรวจร่างกายมาตลอดว่ามะเร็งจะย้อนกลับมาเมื่อไหร่ ตอนนี้อายุ 19 ปี และหน้าตาดี ทำงานอยู่ที่ร้านวีดีโอ/ดีวีดี ได้ความหวังในการเล่นบาสจากนักสัก ดัทสึดะ โทระ ที่ตั้งทีมไทเกอร์สแต่ตอนนี้ไปอเมริกา กับ ยามาอุจิ ฮิโตชิ ที่อายุไล่เลี่ยกัน (ไม่บอกชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร แต่คาดว่า muscular dystrophy)

ทีมไทเกอร์สมี อาสึมิ คุมิ เพื่อนตั้งแต่เด็กของโทงาว่าเป็นผู้จัดการ (และยามาอุจิเชียร์เป็นแฟนเต็มที่) แต่นิสัยที่แข็งอีโก้สูงเข้ากับคนยากของโทงาว่าทำให้เกิดเรื่องทะเลาะออกจากทีมก่อนกลับมาอีกที การซ้อมก็มีปัญหาทั้งเรื่องสถานที่และไม่มีโค้ช แต่ด้วยคงามมุ่งมั่นก็สามารถลงแข่งกับทีมโจฟุดรีมส์ที่มีทีมชาติถึงสองคนคือ ฟุจิคุระ และ นางาอิ ได้ แต่ปัญหาเรื่องเป้าหมายการเล่นทำให้ทีมโดนยุบก่อนตั้งใหม่มีเพียงห้าคน เลือกได้กัปตัน คาเนโกะ ส่วนโทงาว่าถูกเรียกไปเข้าค่ยทีมชาติญี่ปุ่นเป็นตัวสำรอง ส่วนทีมก็ยังได้ นางาโน่ มิตสึรุ ผู้เคยเล่นที่ออสเตรเลียและสำรองทีมชาติมาเสริม และมือใหม่ มิซึชิม่า เรียว ที่เพิ่ง 16 ปี


ส่วน โนมิยะ โทโมมิ ที่หน้าแก่อย่างโหดก็เรียนอยู่โรงเรียนมัธยมปลายนิชิ เมื่อเริ่มเรื่องขับมอเตอร์ไซค์ให้สาว ยามาชิตะ นาทสึมิ ซ้อนท้ายจนเกิดอุบัติเหตุ นาทสึมิอัมพาตและฝึกที่สถานกายภาพบำบัดที่นางาโน่ โนมิยะก็เกิดเรื่องโดนไล่ออกจากโรงเรียน หางานไม่ได้แถมเมื่อได้งานย้ายบ้านบริษัทก็ดันเจ๊งอีก แต่เมื่อไปพบกับนาทสึมิที่หาทางเดินต่อก็ทำให้โนมิยะตั้งเป้าเล่นบาสอาชีพกับทีมโตเกียวไลท์นิ่ง สิ่งเดียวที่โนมิยะผูกพันกับโรงเรียนคือชมรมบาสที่ถือว่าเป็นหนึ่งในสองบิ๊ก (มั๊ง) และบาสก็ทำให้โนมิยะได้พบกับโทงาว่าและเข้าเล่นด้วย รวมถึงบีบเอากุญแจโรงยิมโรงเรียนมาซ้อมตอนเช้ามืดกัน หรือแม้กระทั่งไปเนียนเล่นกับรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย

อีกหนึ่งบิ๊กโรงเรียนนิชิคือกัปตันทีมบาส ทาคาฮาชิ ฮิซาโนบุ ที่เรียนเก่งและหน้าตาไม่เลว ด้านครอบครัวพ่อแม่หย่ากัน พ่อไปเป็นช่างปั้นที่ต่างจังหวัดหายไปตั้งแต่สิบขวบ แม่เลี้ยงคนเดียวอย่างยากลำบาก เมื่อทาคาฮาชิขโมยขี่จักรยานไปกับสาวแล้วหนีคนไล่ตามจนโดนรถชน เป็นอัมพาตที่สันหลังส่วนอกข้อเจ็ด คนที่มาเยี่ยมบ้างคือสาว ฮอนโจ ฟุมิกะ ที่หน้าตาไม่ได้ดี ทาคาฮาชิเลยทำใจไม่ได้มากที่ 'ตกชั้น' ลงไปเป็นระดับต่ำสุด


ผ่านไปครึ่งปีก่อนตัดสินใจว่าจะเรียนต่อหรือเปล่า ทาคาฮาชิก็ออกจากโรงพยาบาล ย้ายไปทำกายภาพบำบัดเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตพึ่งตนเองได้ เริ่มตั้งแต่การลงจากเก้าอี้และขึ้นนั่งที่ยากลำบาก หมดหวังกับการได้ยืนอีกครั้ง แต่ก็ได้เพื่อนอย่าง ฮานาซากิ ที่ดูโอตากุไม่น้อย และ ชิราโทริ นักมวยปล้ำสกอร์เปี้ยนฝ่ายตัวร้าย และฝ่ายพละ ฮาระ ที่ทำให้ทาคาฮาชิตัดสินใจเข้าทีมดรีมส์ และก็สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่าควรพัฒนาเรื่องการควบคุมเก้าอี้ก่อน

ในขณะที่โทงาว่าและเรียวเข้า A Camp ที่มีโค้ชจากอเมริกา อาสึมิตามไปเป็นผู้จัดการและคิดเรียนต่อต่างประเทศหลังจากเห็นไทเกอร์สได้ที่สองสายโตเกียวและแชมป์ด้วยโอรุริ ผู้ที่มาแทนให้ทีมไทเกอร์สคือฟุมิกะที่ไม่ค่อยมีเวลาให้และทำงานไม่เป็น จนไทเกอร์สเกือบเสียโอกาสเข้าร่วมแข่งขันเจแปน โอเพ่น ทัวร์นาเมนท์ บวกกับไม่สามารถควบคุมลูกทีมได้ สุดท้ายได้ยามาอุจิที่ออกมาพูดทั้งที่สภาพแย่ลงมาก แต่ก็เอาไม่อยู่ [เล่ม 14]
[08/12/14]

ทาคาฮาชิ พยายามอย่างหนักในทีมดรีมส์ แต่ก็มีปัญหาไม่สามารถแสดงความสามารถได้ ส่วนเพื่อนชมรมบาส โนมิยะ ก็เริ่มทำความเข้าใจกับตนเอง
[27/04/21]

นี่ก็ผู้แต่งในตำนานอีกนะคะ แบบว่าลายเส้นอย่างเทพ (รู้สึกว่าภาพสีหน้าปกจะดูงามเวอร์เกินไป คือสวยกว่าขาวดำเยอะนะ) มีการดำเนินเรื่อง อารมณ์ ความรู้สึก และตัวละครที่ชัดเจน การดำเนินเรื่องมองตามมุมมองของตัวละครต่างๆ

ในเรื่องเล่าว่ากีฬาแบ่งระดับความพิการไว้ 8 ระดับ จาก 1.0-4.5 แต้มยิ่งน้อยความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายยิ่งจำกัด สมาชิก 5 คนที่ลงแข่งเมื่อรวมแต้มกันแล้วต้องไม่เกิน 14 แต้ม แน่นอนว่าด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย ทำให้มีเรื่องความพยายามที่เป็นไปไม่ได้อยู่มาก รวมถึงความแตกต่างในจุดประสงค์ของการเล่นกีฬา ไม่ว่าเพื่อการแข่งขัน สุขภาพ หรือเพื่อความสนุกด้วย ถึง จขบ. ไม่ชอบดูบาส (แถมมวยปล้ำยิ่งไม่ชอบเป็นพิเศษ) แต่รู้สึกว่านี่เป็นการ์ตูนกีฬาที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเลย

แน่นอนว่าการเป็นกีฬาคนพิการและการย้อนอดีตไปดูปมอย่างบ่อย อาจจะทำให้คิดว่าดราม่าเวอร์ แต่ความจริงทำให้รู้สึกถึงการยอมรับและความเคารพซึ่งกันและกันมากเลยล่ะค่ะ เปลี่ยนไปแล้วจะเหมาะกับการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้หรอกนะ แต่สำหรับการมีชีวิตในฐานะมนุษย์ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เลวเลยล่ะ ถ้ายอมรับตัวเองไม่ได้ ก็มองไม่เห็นคุณค่าคนอื่น มีแต่คนที่ยอมรับตัวเองในตอนนี้อย่างที่เป็นเท่านั้น จึงจะยอมรับคนอื่นๆ ได้ และถ้าตระหนักในคุณค่ายอมรับคนอื่นได้ วันที่จะยอมรับในตัวเองได้ก็อยู่อีกไม่ไกล [เล่ม 9]

สำหรับคนที่คิดว่าเรื่องกีฬาคนพิการอันนี้โหดหรือเครียดเกินไป ก็มีเรื่อง 'วิ่งครั้งใหม่ ใจเกินร้อย' ของเด็กพิการขาดขาดข้างหนึ่งที่มีมุมมองบวกและให้กำลังใจกว่าค่ะ
[08/12/14, 11/04/22]

ที่มา
[1] Inoue Takehiko. เรียล (Real). NED Comics, เล่ม 1-15, 2544-2564 (ต้นฉบับ 2002-2015).


รายการการ์ตูนญี่ปุ่น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Spy×Family - Endo Tatsuya

ลำนำรักเทพสวรรค์ - ถงหัว

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira