บทเพลงร่ายอสูร - Hayashi Kisara

เรื่อง บทเพลงร่ายอสูร
แต่งโดย Hayashi Kisara


บทเพลงร่ายอสูร


อาคิมาสะ เป็นลูกศิษย์ของ อาเบะ โนะ เซเมย์ หลังจากอาจารย์ตายก็ทำงานเป็นองเมียวจิแห่งวังหลวง (ผู้ใช้เวท ทำนาย ทำพิธี ปราบภูตผี) อาศัยอยู่กับรุ่นพี่คือ ทาเดอากิ ในคฤหาสน์ทางตะวันออกของเมืองหลวง อาคิมาสะถูกสั่งงานไม่มากนักเหมือนกับทางหัวหน้าองเมียวจิต้องการไม่ให้ใครรู้สึกถึงพลังอำนาจ

เรื่องในสมัยเฮอันเริ่มเมื่อ คายูระ ธิดาของไดนะกง (ขุนนางระดับสูง) ไปสะเดาะเคราะห์แล้วพบกับอสูรลม เทงปูไค ที่เกิดจากอสูรและเทพ จนเกิดเรื่องได้รับบาดแผล พี่ชาย อาซามิเนะ จึงขอความช่วยเหลือจากทาเดอากิที่สนิทกัน ทำให้อาคิมาสะมาร่วมด้วยช่วยสนิทสนม (หรือพูดให้ถูกคือกลั่นแกล้งหยอกใช้งาน) กับเทงปูไคที่หลงรักคายูระที่ถูกพ่อส่งเข้าวังหลังโดยหวังโอกาสเลื่อนเป็นเนียวโกะ (สนม)

สภาพการเมืองในวังนำโดยสองพี่น้อง คือ ฟูจิวาระ โทโมอิเอะ ที่เป็นสะไดจิน (เสนาบดีฝ่ายซ้าย) และ ฟูจิวาระ โทโมนากะ ที่เป็นอุไดจิน (เสนาบดีฝ่ายขวา) ทั้งสองกำลังพยายามให้ธิดาของตนให้ขึ้นเป็นโคโก (อัครมเหสี) โดยโทโมอิเอะมีธิดาสองคน คือ มิอุ ที่เป็นมิโกะวังหลวง และ มิยุ ส่วนโทโมนากะมี ทาคาโกะ และ โคซากุระ ซึ่งสามคนหลังเข้าวังเป็นนางในหมด ทำให้เรื่องการแย่งชิงเป็นธีมหลักอันหนึ่ง

เรื่องอื่นๆ ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องนักดนตรี มุราซาเนะ ที่เล่นบิวะเพราะจนโดนอสูรหมายหัว ผีเข้าอสูรอาละวาด การฝึกองเมียวจิรุ่นใหม่ ถึงความรักของใครต่อใคร ฯลฯ ทำให้รู้สึกว่างานขององเมียวจิวังหลวงที่มีอยู่ไม่กี่คนนี่เยอะดีนะ เจอทั้งงานหลวงงานราษฎร์ แถมยาวจนถึงปัจจุบันในตอนต้นและตอนปิด

โครงเรื่องเกี่ยวกับองเมียวจิที่เป็นแนวโปรดของ จขบ. อย่างหนึ่ง แบบว่ามีทั้งยุคเฮอันและภูตผีปีศาจที่ชอบทั้งคู่ เวลาอ่านแล้วทำให้หน้าของ Nomura Mansai ในเรื่อง 'Onmyoji' ที่ เล่นเป็นอาเบะโนะเซเมย์ลอยมาเป็นอาคิมาสะ อ้อ คิดว่ามีการเอาส่วนประกอบของเรื่องในวรรณคดีอย่างตำนานเก็นจิ ตำนานอื่น และนิทานเกี่ยวกับภูตผีมาใช้เยอะพอสมควร แต่ผลออกมาฉีกแนวใช้ได้ แบบว่าตอนจบของประชันเครื่องหอม จขบ. หัวเราะก๊ากเลย 555 ส่วนตอนจบนี่สงสัยว่าสององเมียวจิไม่ติดต่อกันจนตายเลยหรือไง!

เวลาในเรื่องไม่ชัดเจนนัก เพราะน่าจะเกิดหลังการตายของอาเบะ โนะ เซเมย์ (921-1005) ไม่เกินสิบปีหรือยี่สิบปีเป็นอย่างสูงมาก ซึ่งก็เป็นยุครุ่งเรืองสุดขีดของ ฟูจิวาระ มิจินากะ (966-1028) แต่การบรรยายในเรื่องมีอ้างถึงคำพูดของมิจินากะที่บอกว่า โลกใบนี้หมุนรอบตัวเรา สิ่งที่เรานึกคิดนั้นเฉกเช่นกับจันทร์เต็มดวงที่ไร้การบั่นทอนของเสี้ยวแรมค่ำ (ที่เคยอ่านเจอเป็นภาษาอังกฤษเปลี่ยนเป็นไม่มีเมฆบัง) โดยเหมือนกับผ่านยุคของมิจินากะไปพอสมควรแล้ว เลยดูจะลักลั่นอยู่ แต่พอจะกล้อมแกล้มเป็นช่วงเฮอันตอนปลายช่วงรุ่งเรืองของตระกูลฟูจิวาระได้ ถึงยังไงก็ไม่ได้อิงประวัติศาสตร์อยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดการแย่งชิงระหว่างพี่น้องทำให้นึกถึงเรื่องของ ฟูจิวาระ มิจิทากะ และมิจินากะเยอะเหมือนกันนะคะ

สำหรับเรื่องที่คนไทยเขียนนี้ จขบ. ชอบที่ตัดสินใจเข้มแข็งที่จะใช้คำเรียกทับศัพท์ให้หมด ถึงจะทำให้อ่านยากสักนิดแต่รู้สึกได้ว่ามีอารมณ์ญี่ปุ่นดีค่ะ เนื่องจาก จขบ. รู้สึกสนใจในยุคเฮอันเป็นพิเศษ เคยอ่านหนังสือและนิยายยุคนี้มาพอสมควร เลยค่อนข้างชินและไม่มีปัญหาอะไรกับชื่อตำแหน่ง ชุด หรือสถานที่ ฯลฯ แต่เนื่องจากเคยอ่านฉบับภาษาอังกฤษเท่านั้น เลยไม่แน่ใจเรื่องการใช้คำเรียกต่างๆ เท่าไหร่ คิดว่าถ้ามีรูปภาพและตารางท้ายเล่มอธิบายตำแหน่ง แผนที่ ลักษณะคฤหาสน์ ชุด หรือข้อมูลอื่นเพิ่มเติมก็จะยิ่งดี อ้อ ชื่อเฉพาะบางอย่างโดยเฉพาะดอกไม้ต้นไม้ ชอบที่ใช้ชื่อญี่ปุ่นเลยเพราะได้อารมณ์ดี แต่ถ้ามีเชิงอรรถอธิบายอย่างในเล่มสามหน่อยว่าคือดอกอะไรก็จะช่วยให้จินตนาการได้ดีขึ้นนะคะ

เรื่องชื่อคนมีสงสัยอยู่บ้าง คือดูเหมือนสมัยนั้นชื่อขุนนางมักจะอ่านมี โนะ แทรกระหว่างชื่อสกุลและชื่อตัว ซึ่งในเรื่องนี้ไม่มี ยกเว้นของอาเบะโนะเซเมย์กับตัวประกอบรองอีกไม่กี่คน เลยทำให้รู้สึกว่าไม่สม่ำเสมอเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ แล้ว จขบ. ชอบแบบมีมากกว่า เพราะดูไฮโซดี ^_^ อ้อ สงสัยมากอยู่ว่าคนอื่นนอกจากฟูจิวาระ สุกาวาระ กับอาเบะที่บอกออกมาอยู่ในตระกูลอะไรเพราะไม่มีบอกเลยค่ะ

ส่วนเรื่องการบรรยายก็มีที่รู้สึกสะดุด อย่างการใช้ห้องญี่ปุ่นหรือสวนญี่ปุ่นในคฤหาสน์แบบชินเด็งในยุคเฮอันที่ฟังเกินพอดีเพราะเป็นลักษณะปกติทั่วไป ถ้าจะอธิบายแบบเฉพาะของลักษณะห้องหรือห้องแบบพิเศษเช่นจัดแบบจีนก็ไปอย่าง การใช้บุตรอ้างถึงลูกสาวที่น่าจะเป็นบุตรีมากกว่า หรือชุดผ้าพริ้วก็น่าจะบอกแบบชุดเลย (ทำให้จินตนาการไม่ออกว่าใส่แบบไหนมา) มีสำนวนสมัยใหม่หลุดเข้ามาบ้าง อย่างประชุมสามัญ ชั่วโมง หรือ การขโมยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ฯลฯ

สรุปความรู้สึกคือทำการบ้านมาเยอะจนมีกลิ่นอายของยุคเฮอันชัดเจนและเนียนมาก (ถ้า จขบ. เข้าใจผิดอะไร ฝากคอมเมนต์ด้วยนะคะ) แต่การบรรยายมีแปลกๆ โดยเฉพาะเรื่องการไม่ใช้ราชาศัพท์เลยทำให้ไม่อินเท่าที่ควร แต่ก็นับว่าเป็นผู้แต่งที่น่าสนใจและติดตามดูความก้าวหน้าอีกคนนะคะ
[17/04/16, 19/08/23]


หนึ่งแสงหลังแดนอสูร

[xx/xx/16]

ประตูอสูรรุ่งรัตติกาล

[xx/xx/]

ที่มา
[1] Hayashi Kisara. บทเพลงร่ายอสูร (Oni no kaze uta). สยามอินเตอร์บุ๊คส์, 3 เล่มจบ, 184 + 184 + 192 หน้า, 2554-2555.


รายการนิยายไทย, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค ญี่ปุ่น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Spy×Family - Endo Tatsuya

ลำนำรักเทพสวรรค์ - ถงหัว

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira