ห้วงฝันพันธนาการหัวใจ - แก้วแสงจันทร์

เรื่อง ห้วงฝันพันธนาการหัวใจ
โดย แก้วแสงจันทร์


ปก ห้วงฝันพันธนาการหัวใจเภตรา มีพ่อแม่เป็นอดีตข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ตอนนี้อายุ 25 เป็นดีไซเนอร์ให้ห้องเสื้อของรุ่นพี่ที่สนิทกัน เมื่อผลงานชุดผ้าไหมสไตล์โรมันได้ไปแสดงโชว์ที่อิตาลีเป็นชุดฟินาเล่และถูก เลโอนาร์โด คาปาร์เนลลี หุ้นส่วนใหญ่สถาบันแฟชั่นประมูลไปด้วยราคาแพง ก่อนกลับทั้งกลุ่มก็ไปเที่ยวเมืองโบราณเฮอร์คิวเลเนียม ซึ่งเภตราก็ถูกดึงไปในอดีตก่อนภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิดไม่กี่เดือน

เภตราไปโผล่ที่วิหารของเทวีจูโน ที่มีคนมาสวดอ้อนวอนกับนักบวชพอดี คือ มาเธียน่า ภรรยาหม้ายของ ลูเครเซียส วุฒิสมาชิกในสภาซีเนตที่เพิ่งเสียไปไม่นาน มาเธียน่านำลูกชายโสดคนโตวัยเกือบสามสิบคือนายพล เลโอดิอัส มาบูชาเทวีเป็นการบอกเป็นนัยว่าให้รีบแต่งได้แล้ว เมื่อเจอเรื่องนี้ทั้งสองเลยให้เภตราไปพักอยู่ที่วิลล่าในฐานะญาติห่างๆ และดูแลอย่างดี

ระหว่างที่เภตราหาทางกลับ ก็ได้สนิทสนมกับคนในครอบครัวของเลโอดิอัสที่มีน้องชาย ซาวิอุส และน้องสาว เซเวียร่า โดยเฉพาะเซเวียร่าที่เภตราสอนการออกแบบแฟชั่นให้ เภตรายังได้ร่วมงานสังคมต่างๆ มีหนุ่มๆ มาติดใจหลายคน เช่นนายพัน เซเวอรัส ที่พ่อ มาร์ซิอานัส เป็นวุฒิสมาชิกที่มีอิทธิพลในโรม ช่วงนี้เลโอดิอัสและทหารคนสนิท มาร์เทอุส กำลังสืบเรื่องสินค้าต้องห้าม ทำให้เภตราเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ความใกล้ชิดก็ทำให้เกิดความรัก แต่ภูเขาไฟกำลังจะระเบิด …

โครงเรื่องก็ถือว่าเป็นเรื่องรักย้อนเวลาที่ตรงไปตรงมานะคะ ถึงจะดูหวานแต่ จขบ. ไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ เอาง่ายๆ คือไม่อินว่าเป็นความรักระดับสองพันปีข้ามชาติข้ามภพได้ขนาดนี้อย่างไร (ความรู้สึกล้วนๆ) เรื่องภาษาลาตินที่เข้าใจพูดได้ทันทีถึงจะดูง่ายไป แต่ก็เข้าใจนะคะว่าต้องลัด ไม่งั้นแย่แน่ 555 อ้อ เรื่องการรักษาวิลล่าและกิจการร้านเสื้อมาได้ตลอดสองพันปีก็ด้วย

เข้าใจว่าที่ จขบ. อ่านแล้วไม่อิน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้สะดุด เนื่องจาก จขบง ชอบยุคนี้เป็นพิเศษ เลยเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับยุคนี้มาพอสมควร เรื่องแรกเลยคือการตั้งชื่อของตัวละครโรมันก็ไม่สะท้อนถึงธรรมเนียมปฏิบัติ praenomen/nomen/cognomen เหมือนเอาชื่อที่ฟังดูโรมันมาปนกันให้มั่ว หลายชื่อยังไม่โอเคมากสำหรับสถานภาพ การเรียกชื่อทั้งสามประเภทที่ผสมกันได้อันจะสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็ไม่มี การออกเสียงก็ปนกันแหลก คือ -อิอุส, -อิอัส หรือ -เอียส น่าจะเลือกใช้แบบเดียว ที่บ่นมากเรื่องชื่อเพราะความไฮโซของชาวโรมันเห็นได้ง่ายจากการตั้งชื่อในตระกูลที่มีแบบแผนชัดเจน

ซึ่งเรื่องนี้ก็โยงไปถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้นที่ถือว่ารุนแรงในสังคมโรมัน การที่หญิงมีตระกูลเข้าไปคลุกคลีกับเหล่าโสเภณีที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นทาส หรือลูกสาวขุนนางเปิดร้านออกแบบเสื้อผ้าเองโดยไม่ใช้คนอื่นเป็นฉากหน้าก็ดูแปลก

นอกจากนั้นชนชั้นทางสังคมยังกำหนดการแต่งกายที่ชัดเจนด้วย เช่น จากข้อมูลประกอบคาดว่าตระกูลพระเอกอยู่ในระดับวุฒิสมาชิกธรรมดา ตัวพระเอกเองยังไม่เป็นวุฒิสมาชิก น่าจะใส่ toga virilis สีขาว สำหรับคนธรรมดาจนถึงวุฒิสมาชิก กับ tunica angusticlavia ทูนิกขาวมีแถบม่วงบางที่บ่งบอกชนชั้น equites ซึ่งเป็นระดับรองลงมาจากวุฒิสมาชิก ในเรื่องบอกว่าพระเอกใส่ทูนิกผ้าไหมสีน้ำเงินเข้ม มีแถบสีม่วงด้านหน้า มีแถบปักด้วยทอง โทก้าสีขาวปักด้วยไหมสีม่วง ทำเอามึน จะว่าเป็น toga praetexta ขอบม่วงของวุฒิสมาชิกที่มีตำแหน่ง curule magistrate กับ tunica laticlavia ทูนิกขาวมีแถบม่วงหนาสำหรับวุฒิสมาชิก ก็ดูไม่เหมือน ฯลฯ

ตำแหน่งทหารของพระเอกก็ดูแปลกไปนิด คือสงสัยว่านายพลนี่จะเทียบได้กับตำแหน่งอะไร ด้วยอายุเท่านี้และตระกูลไม่ได้สูงส่งเป็นพิเศษ ได้เป็น tribunus militum ก็ถือว่าดีมากแล้ว ยังไม่น่าถึงระดับ legatus อ้อ แล้วเมืองเฮอร์คิวเลเนียมก็ไม่น่าจะมีค่ายทหารขนาดมีนายพลมาคุม ไม่ใช่เมืองฝึกทหารหรือเป็นฐานทัพอะไรสักหน่อย

มีเรื่องการขึ้นศาลอยู่ราวหกหน้าที่รู้สึกว่าดูจะไม่ค่อยเหมือนที่เคยอ่านมาเท่าไหร่ ขั้นตอนไต่สวนเบื้องต้นและการตัดสินรวบไปด้วยกัน ไม่มีพูดเรื่องการเลือกผู้พิพากษา/ทนายแก้ต่างในแบบเก่าหรือมีการอุทธรณ์ ส่วนการลงโทษที่มีขังคุกยาวก็แปลกเพราะการขังคุกระยะยาวไม่ใช่การลงโทษทางกฏหมายปกติหลังการตัดสินคดี ไม่เนรเทศก็ประหารมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่เกิดเหตุใกล้โรมมาก ความรู้สึกหลักคือในหนังสือและนิยายที่เคยอ่านมาซึ่งพูดถึงการตัดสินคดีของโรมันที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นชนชั้นสูง เรื่องนี้ดูจะมีการดำเนินการที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว 555 แบบว่าปกติจะมีเทคนิคแพรวพราว ทั้งกดดันและเล่นตุกติก ฯลฯ

ส่วนงานแต่งงานที่มีหนึ่งหน้าก็อ่านแล้วไม่ใช่การแต่งแบบโรมัน คือในเรื่องแต่งงานช่วงเช้าที่วิหารเทพเจ้าและสวมแหวนแต่งงาน แถมยังเป็นหัวพลอย คืออ่านแล้วเหมือนกับพิธีคริสเตียนน่ะค่ะ รวมทั้งสองเหตุการณ์คือรู้สึกว่าข้ามๆ ไปมาก ถ้าเพิ่มน่าจะดราม่าได้เยอะเลย

สรุปความรู้สึกในฐานะนิยายรักคือเฉยๆ แบบว่าไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งหรืออินว่าเป็นรักข้ามชาติสองพันปี ส่วนในฐานะนิยายอิงประวัติศาสตร์ คิดว่ารายละเอียดของยุคไม่ตรงเยอะ ความจริงก็มีอีกนะ อย่างการไม่รู้จักภูเขาไฟ ฯลฯ ทำให้อารมณ์ตอนอ่านสะดุด ต้องทำการบ้านอีกเยอะนะคะ
[31/10/, 21/10/22]

ที่มา
[1] แก้วแสงจันทร์. ห้วงฝันพันธนาการหัวใจ. สำนักพิมพ์ 1168, 319 หน้า, 2556.


รายการนิยายไทย, ไทม์ไลน์หนังสืออิงประวัติศาสตร์/ย้อนยุค โรมัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร - มาวนี่

Kaijyu No. 8 - Matsumoto Naoya

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira