ปิตุฆาต - โป้วอั้งเสาะ

เรื่อง ปิตุฆาต
เขียนโดย โป้วอั้งเสาะ แปลโดย ว. ณ เมืองลุง


ปก ปิตุฆาตดาบคลั่ง ชิ้วเทียบ นับเป็นคนหนุ่มอนาคตไกลที่ประสบความสำเร็จด้วยฝีมือล้วนๆ ด้วยวัยเพียงยี่สิบสามปี ก็ได้เป็นจ้งก้วง (พ่อบ้าน ผู้จัดการทั่วไป) ของป้อมตระกูลเกาที่เป็นรองเพียงประมุข เป็นที่เคารพของคนในป้อม ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากประมุขป้อม เกาซัวแช ให้ดูแลการจัดการทั้งหมดและเป็นผู้สอนงานให้บุตรชาย เกากอ ที่เป็นรองจ้งก้วง เป็นที่ชื่นชมของคุณหนู เกามุ้ยหลี ถึงขนาดอยากโกงวิวาห์

ขณะที่ป้อมตระกูลเปาได้เป็นเจ้าภาพจัดงานพิธีวิจารณ์กระบี่อันเป็นหน้าเป็นตา ต้อนรับแขกสำคัญระดับเจ้าสำนักใหญ่ ชิ้วเทียบกลับไม่ยอมอยู่ในพิธี แต่กลับยืนยันวันพักอย่างไม่สนใจคำขอร้องของประมุขป้อม เพื่อไปเยี่ยมหลุมศพของ ตั้วม้อ ในวันครบวันตายของทุกเดือน

มารดาชิ้วเทียบ เตี้ยเซี่ยวมั่ง ตั้งครรภ์ทั้งที่ไม่ได้แต่งงาน บิดาของเด็กไม่แยแส จึงถูกไล่ออกจากบ้าน เพื่อความอยู่รอดนางจึงเป็นคณิกาจนเสียชีวิตในไม่กี่ปี ทิ้งให้ชิ้วเทียบระเหเร่ร่อนไปกับเพื่อนตายเพียงคนเดียวที่มีชะตากรรมแบบเดียวกัน ทั้งคู่น้อยใจและแค้นใจนัก ตั้วม้อที่แก่วัยกว่าชิ้วเทียบเพียงสองปีคอยดูแลปกป้องกระทั่งหิวโหยจนตาย

ชิ้วเทียบเอาชีวิตรอดจนสามารถฝึกวิชาสำเร็จ ฆ่า ต้วนบ้อขี่ ที่เป็นบิดาของตั้วม้อที่ไม่มีวิทยายุทธ ทำให้บุตรชายและสะใภ้หันมาฝึกวิทยายุทธเพื่อแก้แค้น ชิ้วเทียบยังคิดสังหาร เกาซัวแช ที่เป็นบิดาของตน เข้าไปทำงานในป้อมตระกูลเกา ไต่เต้าขึ้นไปจนเป็นจ้งก้วง แต่เมื่อเห็นว่าเกามุ้ยหลียังเด็ก จึงรอให้นางโตก่อน แต่กลับพบว่าเกาซัวแชเป็นบิดาที่ดีเยี่ยม ทั้งยังมีความสำนึกเสียใจและเจ็บช้ำอย่างยิ่ง

ท่ามกลางการโจมตีจากภายนอกและการบ่อนทำลายของหนอนบ่อนไส้ ป้อมตระกูลเกาพบวิกฤตคนทรยศที่สมควรแตกตื่น แต่ในที่สุดก็สามารถผ่านไปได้อย่างมั่นคง เกาซัวแชตั้งเกากอเป็นประมุขป้อม ชิ้วเทียบกลับยืนยันที่จะลาออกและทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ก่อนจะก้าวสู่โศกนาฏกรรมอันแท้จริง ...

เรื่องของโป้วอั้งเสาะมีลักษณะเด่นที่ขัดแย้งกับประเพณีจีน แต่ จขบ. รู้สึกเรื่องนี้แสดงถึงความขัดแย้งรุนแรงที่สุดเพราะเป็นเรื่องความกตัญญูโดยตรง

"บิดา" กระไรเรียกว่าบิดา?
บิดาปรานี บุตรกตัญญู ... หากบิดาไม่ปรานีเล่า? บุตรจะทำอย่างไร
โดยเฉพาะบิดา ประเภทไม่สนใจความเป็นตายร้ายดีของบุตรธิดา หรือผู้เป็นบุตรธิดายังต้องกตัญญูกตเวทีต่อพวกท่าน?
หากว่าใช่ บิดาออกจะเป็นง่ายเกินไป และออกจะเหยียดหยาม ความหมายของคำ "บิดา" เกินไปแล้ว
ไม่ บิดาต้องมิใช่เป็นได้โดยง่ายดายปานนี้
เกิด เลี้ยง อบรม สั่งสอน รักถนอม ล้วนแล้วเป็นหน้าที่ของบิดาที่พึงปฏิบัติ จากนั้น จึงมีสิทธิขอให้บุตรธิดากตัญญูกตเวที
"บิดาปราณี บุตรกตัญญู" เป็นสัจธรรมที่แน่นอน อย่างนั้น หากบิดาไม่ปราณีบุตรไม่กตัญญู ไยมิใช่เป็นเรื่องที่ถูกต้องเช่นกัน?!
ในจารีตประเพณี ชาวโลกมีแค่ชี้หน้าด่า บุตรธิดอกตัญญู มีเพียงไม่เคยชี้หน้าด่าบิดามารดาไม่ปราณี มักเข้าใจ "หัวใจบิดามารดาในแผ่นดินจึงประเสริฐสุด" "ในแผ่นดิน ไม่มีบิดามารดาที่ผิดพลาด" ...


"ปิตุฆาตเป็นเรื่องอกตัญญูที่สุด มีความจำเป็นต้องตั้งหลักหินเช่นนี้?" … "อย่างไรคนก็ตายไป เหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว นี่มิใช่เรื่องที่ควรแก่การแซ่ซร้องสรรเสริญ ไยต้องมีป้ายเช่นนี้"
"มี! จำเป็นที่สุด" … ป้ายแซ่ซร้องสดุดีถูกตั้งมามากเกินไปแล้ว จนสูญเสียความเป็นจริง สรรเสริญเยินยอผู้ตายเกินไป บางเวลาปักป้ายประกาศเรื่องอัปลักษณ์สักอัน กลับสามารถบันดาลให้คนมีสติแจ่มใส ระมัดระวังตัวกว่าเดิม มิใช่หรือไร


นับว่าผู้แต่งสามารถสร้างเรื่องที่มีเนื้อหารุนแรงมากกว่าปกติ ทั้งที่การฆ่ากันเป็นเบือถือเป็นเรื่องธรรมดาของนิยายกำลังภายใน เรื่องนี้ทำรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ จบได้อย่างทุกข์นิยม ชิ้วเทียบที่ฉลาดปราดเปรื่อง ทำความเข้าใจและเอาใจใส่ดูแลคนรอบข้างและลูกน้องอย่างดี พยายามให้ผู้อื่นเดือดร้อนน้อยที่สุด กลับมาคิดสั้นอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเทียบกับตัวละครของโป้วอั้งเสาะในชุด 'ลิ่วฮวยฮวย' น่ำเก็งเสาะที่ถูกบิดาทิ้งเช่นกัน กลับจัดการเรื่องราวได้สร้างสรรค์กว่าเยอะ
[22/08/10, 20/07/22]

ที่มา
[1] โป้วอั้งเสาะ (ว. ณ เมืองลุง แปล), ปิตุฆาต, สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2531.


รายการนิยายจีนแปลไทย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร - มาวนี่

Kaijyu No. 8 - Matsumoto Naoya

สืบลับฉบับคาโมโนะฮาชิ รอน - Amano Akira